กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
บสย. ดึง 22 ธนาคารพันธมิตร ร่วมโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปล่อยสินเชื่อ ผู้ประกอบการ SMEs เปิดโครงการ “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย.” นำร่อง จังหวัดนครราชสีมา ประตูสู่SMEs ภาคอีสาน ดันยอดค้ำ 80,000 ล้านบาท
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) เปิดเผยว่า ตลอดไตรมาส 2 และ 3 บสย. กำหนดแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจ และแผนงานการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่กำลังประสบปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุน โดยใช้ชื่อโครงการ “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย.” เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารต่างๆถึงระดับเจ้าหน้าที่อนุมัติสินเชื่อ SMEs ร่วมกันกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้การสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการ SMEs และมีบสย.ทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อ
โครงการนี้ บสย.ได้เชิญ ผู้บริหารธนาคารระดับสูงและในระดับเจ้าหน้าที่อนุมัติสินเชื่อ SMEs จาก 22 ธนาคารพันธมิตร เข้าร่วมเสวนา รับฟัง ชี้แจง ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ ด้านการค้ำประกันสินเชื่อของบสย. กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัด คือ นครราชสีมา กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา และ สุราษฏร์ธานี นำร่องพื้นที่แรก ที่นครราชสีมา ซึ่งเป็นพื้นที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี และ เป็นเมืองหน้าด่านประตูสู่ผู้ประกอบการSMEsในภาคอีสาน ส่วนครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ วันที่ 17 มิ.ย.2558 ครั้งที่ 3 พระนครศรีอยุธยา วันที่ 19 ส.ค. 2558 และครั้งที่ 4 สุราษฏร์ธานี วันที่ 19 ส.ค. 2558
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ปี 2557 ตัวเลขสินเชื่อ SMEs ในระบบอยู่ที่ 4.379 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่น้อย ดังนั้น บสย.จึงต้องทำงานร่วมกับธนาคาร เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะ ปัญหาอุปสรรคในการทำงานร่วมกัน ตลอดจนแนวทางการแก้ไขและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน จากสถาบันการเงินในพื้นที่ต่างๆ ทุกภูมิภาค ซึ่งการจัดกิจกรรมปีนี้ จะช่วยผลักดันให้การค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งจำนวนราย จำนวนเงิน รวมถึงจำนวนลูกค้ารายใหม่ ซึ่งเป็นการกระจายการค้ำประกันช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยได้รับการช่วยเหลือด้านการเงินอย่างทั่วถึง ผ่านสถาบันการเงินต่างๆ
มั่นใจว่าจะเป็นกิจกรรมที่ผู้บริหารธนาคารทั้งจากส่วนกลาง ผู้บริหารในพื้นที่และเจ้าหน้าที่สินเชื่อของสาขาให้ความสนใจ เข้าร่วมโครงการทั้ง 4 จังหวัด กว่า 800 คน โดยภายในงาน บสย.จะเปิดคลินิกให้คำปรึกษากับเจ้าหน้าที่สินเชื่อด้วย และคาดว่าโครงการนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการSMEsเข้าถึงสินเชื่อผ่านการค้ำประกันของ บสย.ได้มากขึ้น โดยปี 2558 บสย.ตั้งเป้ายอดค้ำประกันสินเชื่อ 80,000 ล้านบาท มีผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อ 27,000 ราย และก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบ 120,000 ล้านบาท
นางปิยะธิดา ตั้งวิไลเสถียร ผู้จัดการสาขา บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม สำนักงานสาขานครราชสีมา ครอบลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ภาคอีสานตอนล่าง ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และ มหาสารคาม เปิดเผยว่า นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมร่วมกับพันธมิตรธนาคารในพื้นที่แล้ว ในส่วนของกิจการสาขานครราชสีมา ยังได้เตรียมจัดงานใหญ่ ในวันที่ 18 มิถุนายน 2558 บสย.ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) จัดงาน “มหกรรมเข้าถึงแหล่งเงินทุน จ.นครราชสีมา” ณ โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส โคราช ภายในงานประกอบด้วย ข้อมูลภาพรวมเศรษฐกิจของโคราช ทั้งในปัจจุบันและวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคต โดย ธปท. และมีการเสวนา เรื่อง “กู้ได้ กู้ง่าย กู้ถูก” เพื่อส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยสำรองที่นั่งได้ที่ บสย.สำนักงานสาขานครราชสีมา โทร. 044-262104 หรือ E-Mail : korat@tcg.or.th
สำหรับ ผลการดำเนินงานสาขานครราชสีมา ระหว่าง 1 ม.ค. – 15 พ.ค. 2558 สามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนได้ รวม 1,120 ราย วงเงินค้ำประกัน 1,502.96 ล้านบาท โดย จังหวัดนครราชสีมาได้รับการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อสูงสุด คือ 489 ราย วงเงินค้ำประกัน 593 ล้านบาท อันดับ 2 จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 173 ราย วงเงินค้ำประกัน 336 ล้านบาท อันดับ 3 จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 149 ราย วงเงินค้ำประกัน 252 ล้านบาท อันดับ 4 จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 162 ราย วงเงินค้ำประกัน 180 ล้านบาท และอันดับ 5 จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 147 ราย วงเงินค้ำประกัน 142 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจที่ บสย.ให้การค้ำประกันสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่
1.กลุ่มการบริการ (รับเหมาก่อสร้าง ขนส่งสินค้า ห้องพักให้เช่าและรีสอร์ท ร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม)
วงเงินค้ำประกัน 255 ล้านบาท
2.กลุ่มการผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ ( จำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง รับซื้อของเก่า จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ด จำหน่ายโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์) วงเงินค้ำประกัน 227 ล้านบาท
3. สินค้าอุปโภคบริโภค วงเงินค้ำประกัน 208 ล้านบาท
4. กลุ่มเกษตรกรรม (จำหน่ายพืชผล-สินค้าทางการเกษตร) วงเงิน 192 ล้านบาท
5. กลุ่มเคมีภัณฑ์และเวชภัณฑ์ (จำหน่ายปุ๋ยและเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร) วงเงินค้ำประกัน 134 ล้านบาท