KMUTT Green Bike Club ย้ำ!! ขับขี่ถูกกฏจราจร มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อการใช้ถนนร่วมกัน ตัดต้นตอนักปั่นเสียชีวิต

ข่าวทั่วไป Wednesday May 20, 2015 16:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี การปั่น “จักรยาน” นับเป็นกิจกรรมที่นิยมกันมานานมากแล้ว แต่ทุกวันนี้จักรยานกลายเป็นยานพาหนะชนิดหนึ่งที่มีคนให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว ด้วยจุดประสงค์ที่ต่างกันออกไปไม่ว่าจะเป็นการปั่นเพื่อสุขภาพ การท่องเที่ยว และเพื่อสิ่งแวดล้อม และช่วงเวลาที่มีผู้คนหันมาใช้จักรยานบนถนนประเทศไทยมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีปริมาณรถยนต์อีกมหาศาลที่ยังเบียดกันอยู่บนท้องถนน จึงทำใจได้ยากว่าการปั่นจักรยานบนถนนในประเทศไทยจะมีความปลอดภัย เมื่อหลายปีก่อนมีหลายหน่วยงานประกาศตัวเป็นสังคมจักรยาน รวมถึงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะมีการใช้จักรยานภายในมหาวิทยาลัยมานานแล้วแต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มจธ. ได้ประกาศตัวเป็นสังคมแห่งจักรยานและการเดินเท้า (Walk & Bike Society) เพื่อกระตุ้นให้บุคคลากรและนักศึกษาหันมาปั่นจักรยานแทนการผลาญเชื้อเพลิงจากยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์ โดย ผศ.สุชาดา ไชยสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์การจัดการด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย (EESH) และที่ปรึกษาชมรมจักรยานสีเขียว มจธ. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเห็นความสำคัญของการปั่นจักรยานมาตั้งแต่ต้น สนับสนุนและรณรงค์ภายในมหาวิทยาลัยมาโดยตลอดจนกระทั่งเกิดเป็นชมรมจักรยานสีเขียว มจธ. ขึ้นมาโดยมีกลุ่มนักศึกษาเป็นผู้ดูแล “เราเริ่มต้นจากกลุ่มเล็กๆ ช่วยกันรณรงค์จนมีคนสนใจมากขึ้น ตึก Green Society กลายเป็นที่ตั้งของชมรมจักรยานสีเขียว มจธ. หรือ KMUTT Green Bike Club เพื่อเป็นศูนย์รวมของคนรักจักรยานให้มาทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้ มจธ.เป็นสังคมจักรยานที่ยั่งยืนไม่ใช่ตามกระแสแล้วเลิกไป สิ่งที่ชมรมเราให้ความสำคัญมากที่สุดคือเรื่องความปลอดภัยในการใช้จักรยาน โดยในปีแรกๆ ของการจัดตั้งชมรมเราจึงเริ่มจากสอนวิธีการปั่นจักรยานอยู่ภายในมหาวิทยาลัย เรียนรู้การส่งสัญญาณมือสำหรับนักปั่น การใช้อุปกรณ์ป้องกัน ตลอดจนการบำรุงรักษาและซ่อมแซมจักรยานคู่ใจก่อน รวมถึงกฏเกณฑ์ที่ต้องรู้ของการปั่นจักรยานอย่างปลอดภัยเมื่อต้องลงสนามจริง” ทางด้าน “น้องแป้ง” นางสาวพรชนก เปรมวิเชียร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มจธ. กล่าวในฐานะประธานชมรมจักรยานสีเขียว มจธ. ว่า หลังจากมีการเตรียมพร้อมในด้านร่างกายและทักษะในการปั่นจักรยานกันแล้วทางชมรมฯ จึงจัดกิจกรรม “Bike Friday” สำหรับนักปั่นหน้าใหม่ โดยทุกๆ วันศุกร์จะมีการจัดทริปปั่นในระยะทางที่ไม่เกิน 15 กิโลเมตรลัดเลาะไปตามชุมชนรอบมหาวิทยาลัย เน้นการปั่นแบบไม่เร่งรีบมากนัก บางครั้งก็จัดทริปปั่นไปชิมอาหารข้างทางที่เป็นของดีต่างๆ ของชุมชน แวะถ่ายภาพ แวะพักในสถานที่น่าสนใจ เช่น วัด เป็นต้น “กิจกรรมนี้ช่วงแรกมีคนเข้าร่วมน้อย แต่คนที่มาก็ติดใจเกิดการบอกต่อๆ กัน จนมีคนเข้าร่วมปั่นในทุกวันศุกร์เกือบ 100 คน ซึ่งชมรมฯ ก็เปิดโอกาสให้ประชาชนในชุมชนรอบมหาวิทยาลัยมาร่วมด้วย ซึ่งเขาจะเห็นว่าเราทำกิจกรรมอะไรบ้าง หรือมีโปรแกรมปั่นไปที่ไหนบ้าง ผ่านทางสื่อออนไลน์ และเฟซบุ๊กแฟนเพจของชมรม KMUTT Cyclist Circle และ Ride to meet U @KMUTT โดยชมรมฯ ก็มีจักรยานพร้อมอุปกรณ์ป้องกันให้ยืมจำนวนมากเพียงแค่นำบัตรประชาชน หรือ บัตรนักศึกษามาลงทะเบียนที่ตึก Green Society ส่วนในทุกๆ วันเสาร์ ทางชมรมก็มีจัดกิจกรรม Saturday Ride Fever แต่กิจกรรมนี้จะเป็นการปั่นที่จริงจังมากขึ้น ไปเช้า-เย็นกลับ ระยะทางไปกลับไม่เกิน 70 กิโลเมตร เหมาะกับคนที่มีความพร้อมทางด้านร่างกาย และมีทักษะในการปั่นอยู่บ้างแล้ว แต่อย่างไรก็ตามในทุกทริปที่ออกปั่นจะมีทีมงานของชมรมคอยปั่นประกบและดูแลตลอดเส้นเดินทาง นอกจากนั้นในการปั่นแต่ละ ทริป ชมรมจะคำนวณระยะทางให้ด้วยว่าวันนี้ คุณปั่นระยะทางกี่กิโลเมตร ช่วยเผาผลาญได้กี่กิโลแคลอรี่ และช่วยลดปริมาณคาร์บอนได้เท่าไหร่” นอกจากนั้น “น้องสร” นายธนพล สุจิตวรงค์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 รองประธานชมรมจักรยานสีเขียว มจธ.และในฐานะนักปั่นที่มีประสบการณ์มาพอสมควร กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้มีเส้นทางสำหรับรถจักรยานมาตั้งแต่แรก จักรยานจึงต้องใช้ทางเดียวกับรถยนต์ที่หนาแน่นอยู่แล้ว ซึ่งหลายๆ ครั้งก็ตามมาด้วยการเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้น “ที่จริงเรื่องถนนจักรยานจะมีหรือไม่มี จะไม่เป็นปัญหาเลยถ้าผู้ใช้รถใช้ถนนมีน้ำใจต่อกัน จากอุบัติเหตุ ร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับนักปั่นหลายครั้ง จึงมีการรณรงค์ในเรื่อง SHARE THE ROAD เพื่อเตือนสติทั้งนักขับและนักปั่นให้ต่างระวังซึ่งกันและกัน ใช้ถนนร่วมกันอย่างมีน้ำใจ และที่สำคัญต้องปฏิบัติตามกฎจราจรเพื่อความปลอดภัยของเพื่อนร่วมทาง โดยเฉพาะการไม่ขับรถแซงซ้ายเพราะจักรยานจะปั่นชิดซ้ายเสมอ” ทางด้าน ผศ.สุชาดา กล่าวทิ้งท้ายว่า คนที่จะปั่นจักรยานนอกจากจะระวังตัวเองแล้วยังต้องคอยมองทั้งรถยนต์และคนเดินเท้า ดังนั้นชมรมจึงได้จัดทำคู่มือฉบับกระเป๋าเกี่ยวกับการใช้ถนนร่วมกัน และปั่นปลอดภัย Share the Road & Save our Cyclists เพื่อเผยแพร่ในสื่อออนไลน์และเพจต่างๆ ของชมรม ให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ทุกคนทั้งผู้ใช้ถนน คนเดินเท้า ชาวนักปั่น รวมทั้งผู้ขับขี่จักรยานยนต์และรถยนต์ที่ใช้ถนนร่วมกันได้รับรู้ เข้าใจ และสามารถใช้ถนนร่วมกันอย่างปลอดภัยในที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ