กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดทดสอบเส้นทางนำร่องรถเมล์ไฟฟ้าสาย สจล. – แอร์พอร์ตลิงค์ลาดกระบัง โดยรถเมล์ดังกล่าวใช้เวลาในการชาร์จไฟฟ้า 4-5 ชั่วโมง วิ่งได้ในระยะทาง 250 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายในตัวรถก็ยังมีการออกแบบให้ทันสมัย สะดวกต่อพฤติกรรมในการขับขี่ มีระบบสตาร์ทรถแบบไร้กุญแจ มีทางขึ้น-ลงให้กับรถเข็นผู้พิการ ตลอดจนมีความปลอดภัยของระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ หากในอนาคตประเทศไทยมีการนำรถเมล์ไฟฟ้าเข้ามาใช้ในระบบขนส่งมวลชนขึ้นจริง ก็จะสามารถช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลได้ถึง 120 ล้านลิตรต่อปี จากปริมาณรถโดยสารในปัจจุบันที่มีกว่า 3 พันคัน อีกทั้งยังสามารถลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 0.32 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ สจล. และ ขสมก. ยังได้ลงนามร่วมมือพัฒนาระบบส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร อาทิ การสนับสนุนด้านวิชาการด้านวิศวกรรม การส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาให้เกิดนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ในอนาคต พร้อมตั้งเป้าผลสัมฤทธิ์จากความร่วมมือในเชิงรูปธรรม ผ่านการใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีสนับสนุนระบบขนส่งมวลชน อาทิ ระบบ การบริหารจัดการขนส่งมวลชน ระบบจีพีเอสควบคุมการเดินรถ ระบบชาร์จพลังงานสำหรับรถเมล์ไฟฟ้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สจล. กำลังศึกษาค้นคว้าในการพัฒนารถเมล์ไฟฟ้าขึ้นใช้เองในอนาคตเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด “รากฐานนวัตกรรมสร้างชาติ: The Nation of Innovation” ในการเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศไทย
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th
ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ในแต่ละวันมีผู้ใช้บริการรถเมล์ราว 5 ล้านคนหรือ ประมาณกว่า 80 % ของยอดผู้ใช้บริการระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ โดยปัจจุบันมีรถเมล์ให้บริการจำนวนกว่า 3,000 คัน ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นระบบขนส่งมวลชนหลักที่ประชาชนใช้ในการสัญจรมากที่สุด อย่างไรก็ตาม รถเมล์ส่วนใหญ่นั้นผ่านการใช้งานมานาน 18 - 20 ปี สภาพรถจึงเก่าและทรุดโทรม
ทำให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง มีรถจอดเสียในเส้นทางบ่อยครั้ง อีกทั้งยังมีการปล่อยควันดำ สร้างมลพิษทางอากาศอันจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ และระบบนิเวศได้ สจล. ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศได้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบคมนาคม และอนาคตของสังคมไทย จึงได้ร่วมมือกับ ขสมก. ในการเปิดทดสอบเส้นทางนำร่องรถเมล์ไฟฟ้า สจล. – แอร์พอร์ตลิงค์ โดยมีเส้นทางการวิ่งภายในสถาบัน จากนั้นมุ่งหน้าไปยังรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์สถานีลาดกระบัง เพื่อทดสอบสมรรถนะ และคุณสมบัติของรถเมล์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นแนวโน้มของโลกเพื่อเป็นอีกทางเลือกของการสัญจรที่ประหยัดพลังงาน ไร้มลพิษ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมด้วยการนำเทคโนโลยีสนับสนุนระบบขนส่งมวลชนของทางสถาบันมาประยุกต์ใช้กับการเดินรถเมล์ไฟฟ้าในสภาพจริง เพื่อให้เห็นถึงประโยชน์ และอุปสรรคในการใช้งานเทคโนโลยี รวมถึงเกิดการสะท้อนถึงความคิดเห็นของผู้ใช้บริการ อันจะเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบให้เหมาะสมแก่การใช้งาน และตอบสนองต่อความต้องการประชาชนต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ดี การเปิดทดสอบเส้นทางรถเมล์ไฟฟ้าในครั้งนี้ก็ยังถือเป็นการตอบโจทย์ความตั้งใจในการเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดใช้เส้นทางรถเมล์ไฟฟ้าสำหรับนักศึกษา และบุคลากรอีกด้วย
โดยภายในตัวรถเมล์ไฟฟ้ามีการออกแบบให้ทันสมัย สะดวกต่อพฤติกรรมในการขับขี่ มีระบบสตาร์ทรถแบบไร้กุญแจมีทางขึ้น-ลงให้กับรถเข็นผู้พิการ ตลอดจนมีความปลอดภัยของระบบไฟฟ้า ในการป้องกันน้ำ ความร้อน และการลัดวงจร โดยมีความจุแบตเตอรี่ 324 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ใช้เวลาในการชาร์จไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 5 ชั่วโมง และวิ่งได้ในระยะทาง 250 กิโลเมตรด้วยความเร็วสูงสุด 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งนี้ หากในอนาคตประเทศไทยมีการนำรถเมล์ไฟฟ้าเข้ามาใช้ในระบบขนส่งมวลชนขึ้นจริง ก็จะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการคมนาคม ที่ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสนใจ โดยหากว่ามีการเปลี่ยนจากรถเมล์ปกติมาใช้รถเมล์ไฟฟ้า 3,000 คัน ก็จะสามารถช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลได้ถึง 120 ล้านลิตรต่อปี อีกทั้งยังสามารถลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 0.32 ล้านตันต่อปี โดยที่การเปลี่ยนมาใช้รถเมล์ไฟฟ้า 1 คัน จะเทียบเท่ากับการลดการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ 33 คัน ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษของรถเมล์ไฟฟ้าคือ ไร้มลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน สจล. กำลังศึกษาค้นคว้าในการพัฒนารถเมล์ไฟฟ้าขึ้นใช้เองในอนาคตเช่นกัน อันสอดคล้องกับแนวคิด “รากฐานนวัตกรรมสร้างชาติ: The Nation of Innovation”
ในขณะเดียวกัน สจล. ก็ได้ร่วมมือกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาชีพวิศวกรรมระหว่างทั้งสององค์กร โดย สจล. ได้รับความไว้วางใจในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการวิศวกรรมให้เกิดเป็นรูปธรรม ร่วมด้วยการใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีสนับสนุนระบบขนส่งมวลชน ที่ทางสถาบันคิดค้น และศึกษาวิจัยเอาไว้อย่างหลากหลาย อาทิ ระบบการบริหารจัดการขนส่งมวลชน ระบบจีพีเอสควบคุมการเดินรถ ระบบชาร์จพลังงานสำหรับรถเมล์ไฟฟ้า เป็นต้น อีกทั้งยังดำเนินการด้านการฝึกอบรมพนักงานในเรื่องสำคัญต่างๆ ที่จะช่วยในการพัฒนาทักษะ และความสามารถของบุคลากร ขสมก. เช่น การส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในการขับขี่และให้บริการ การตรวจซ่อมบำรุงรักษาเครื่องยนต์ การตรวจรับและเช็คสภาพรถ การประหยัดพลังงานของรถโดยสาร อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะต่อไป
ด้าน นางปราณี ศุกระศร กรรมการบริหารกิจการองค์การ และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวว่า ขสมก. ในฐานะองค์การระดับชาติ ที่ให้บริการด้านการขนส่งรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพบริการที่สะดวก ทันสมัย และปลอดภัย จึงได้ร่วมมือกับสจล. ในการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ โดย ขสมก. จะดำเนินการในการเป็นศูนย์เรียนรู้การซ่อมบำรุงรักษารถโดยสารให้นักศึกษา สจล. ได้มาฝึกงาน แลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อเป็นประสบการณ์สำหรับการทำงานในอนาคต และเพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านคมนาคมของประเทศ ด้วยการลงนามใน “บันทึกความร่วมมือด้านวิชาการ และวิชาชีพวิศวกรรม ระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของการลงนามครอบคลุม 4 เรื่อง ได้แก่ การให้ความร่วมมือด้านความรับผิดชอบทางสังคม (CSR) การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิชาชีพวิศวกรรมระหว่างทั้งสององค์กร การสนับสนุนด้านวิชาการด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับภารกิจหน้าที่ของ ขสมก. และการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ และนวัตกรรมในอนาคตของรถโดยสาร ขสมก. ที่มีขอบข่ายของความร่วมมือเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 6 ปี นับตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2558 ถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 โดยกิจกรรมการลงนามความร่วมมือดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th