กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
เต็งกู ดาโต๊ะ ซาฟรูล์ เต็งกู อับดุล อาซิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มซีไอเอ็มบี เปิดเผยว่า ซีไอเอ็มบี กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เบอร์ฮาด (“กลุ่มซีไอเอ็มบี” หรือ “กลุ่ม”) ประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2558 จำนวน 580 ล้านริงกิตมาเลเซีย โดยมีกำไรต่อหุ้นสุทธิ 6.9 เซ็น หากไม่รวมรายการพิเศษค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้าง จำนวน 202 ล้านริงกิตมาเลเซีย ในไตรมาสแรก ปี 2558 แล้ว กลุ่มจะมีกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติลดลงจากปีก่อนร้อยละ 26.6 โดยมีผลตอบแทนผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติคำนวณเป็นอัตราส่วนเต็มปีที่ร้อยละ 8.2
สำหรับตัวเลขทางการเงินที่น่าสนใจได้แก่ กำไรสุทธิจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 210.3 เทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการขยายตัวของรายได้ที่เพิ่มขึ้นและการลดลงของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและสำรองหนี้สูญ
รายได้จากการดำเนินงานก่อนหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไตรมาสแรก ปี 2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 เทียบกับปีก่อน แม้เผชิญสภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนตั้งสำรองฯ เทียบกับปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0
สำรองหนี้สูญอินโดนีเซียยังคงเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรก ปี 2558 แต่ก็ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว
อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นคำนวณเป็นอัตราส่วนเต็มปี (ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้าง) ไตรมาสแรก ปี 2558 เท่ากับร้อยละ 8.2
“เราเริ่มต้นปี 2558 ได้ดีหลังผ่านช่วงเวลาที่ลำบากตอนปลายปี 2557 ธุรกิจหลักของเราดำเนินไปด้วยดีโดยเฉพาะธุรกิจธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยและลูกค้าพาณิชย์ เราพอใจกับรายได้จากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 เทียบกับปีก่อน และกำไรที่เพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แม้ดำเนินธุรกิจในสภาวะแวดล้อมที่ท้าทาย” เต็งกู ดาโต๊ะ ซาฟรูล์ เต็งกู อับดุล อาซิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มซีไอเอ็มบี กล่าว
เป้าหมาย T18 และการเปลี่ยนแปลงองค์กรที่สำคัญ
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 ซีไอเอ็มบี กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ได้เผยแผน T18 และการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรที่สำคัญ รวมถึงเป้าหมายระยะกลางที่จะสร้างผลตอบแทนผู้ถือหุ้นที่ร้อยละ 15 รวมถึงเงินกองทุนชั้นที่ 1 มากกว่าร้อยละ 11 อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม น้อยกว่าร้อยละ 50 และสัดส่วนรายได้จากธุรกิจธนาคารรายย่อย ร้อยละ 60 ภายในปี 2561 การปรับโครงสร้างองค์กรในครั้งนี้ช่วยให้กลุ่มมีสายงานระดับภูมิภาค และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญด้านผู้บริหารทั่วทั้งกลุ่ม เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2558 กลุ่มได้ประกาศแต่งตั้ง Tigor M. Siahaan เป็น President Director ของ ซีไอเอ็มบี ไนอาก้า ซึ่งอยู่ระหว่างขออนุมัติจากทางการ รวมถึง Effendy Shahul Hamid เป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Group Asset Management & Investments และ Kwan Keen Yew เป็น Group Chief Compliance Officer
นอกจากนี้ กลุ่มได้ปิดสำนักงานในซิดนีย์และเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ตามแผน T18 เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานด้านวาณิชธนกิจและตลาดทุนในเอเชียแปซิฟิกลงร้อยละ 30 ในปี 2558 ในวันที่ 15 พฤษภาคม กลุ่มได้ประกาศโครงการสมัครใจ MSS สำหรับพนักงานในมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน
อนึ่ง เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 เต็งกู ดาโต๊ะ ซาฟรูล์ เต็งกู อับดุล อาซิส ได้รับการยืนยันแต่งตั้งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มซีไอเอ็มบี ในขณะที่ ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการกลุ่มซีไอเอ็มบีในวันที่ 1 กันยายน 2557
แนวโน้ม
“ตามที่คาดการณ์ไว้ ปี 2558 นับเป็นปีที่ท้าทายและเป็นปีแห่งการทบทวนเป้าและเกณฑ์ต่างๆ ของกลุ่ม เราจะยังคงให้ความสำคัญกับการบริหารค่าใช้จ่ายและการปรับปรุงการดำเนินงาน พร้อมกับเสริมสร้างการดำเนินธุรกิจหลักให้แข็งแกร่ง แม้จะยังอยู่ในช่วงเริ่มแรก แต่เราก็เริ่มเห็นผลลัพธ์จากการปรับเปลี่ยนดำเนินการต่างๆ ตามแผน T18 เราจะยังคงยึดมั่นมุ่งเน้นดำเนินการตามแผนที่ตั้งไว้อย่างต่อเนื่อง” เต็งกู ซาฟรูล์ กล่าว
“เรายังคงต้องระมัดระวังต่ออนาคตข้างหน้า เมื่อพิจารณาสภาพเศรษฐกิจในภูมิภาคและการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่ลดลงในมาเลเซีย ในขณะที่ ซีไอเอ็มบี สิงคโปร์ ยังคงมีผลการดำเนินธุรกิจเติบโตต่อเนื่อง และ ซีไอเอ็มบี ไทย มีแนวโน้มผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นแม้เผชิญสภาวะแวดล้อมเศรษฐศาสตร์มหภาคที่ไม่แน่นอน โดยประเด็นคุณภาพสินทรัพย์ที่อาจส่งผลกระทบในอนาคตอันใกล้ของ ซีไอเอ็มบี ไนอาก้า สืบเนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ จะยังคงเป็นประเด็นที่ท้าทายของกลุ่ม” เต็งกู ซาฟรูล์ กล่าว