กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
นักศึกษาเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม จากมหาวิทยาลัย 11 แห่ง 14 คณะ เปิดพื้นที่เรียนรู้ จัดแสดงนิทรรศการสื่อสะท้อน 6 โจทย์สังคม ชูต้นแบบ“นวัตกรรมการปรับการเรียนการสอน จากโจทย์จริง” สร้าง “พลเมืองตื่นรู้” รับใช้สังคม
สสส. ร่วมกับ มูลนิธิสยามกัมมาจล มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สภาคณบดีศิลปศาสตร์แห่งประเทศไทย และภาคประชาสังคม จัดเวทีและนิทรรศการนำเสนอผลงานของนักศึกษา ในเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคม (University Network for Change : UNC) ภายใต้โครงการเสริมสร้างพลังเยาวชนสร้างสรรค์สื่อเพื่อสังคมที่น่าอยู่ ขึ้นระหว่างวันที่ 20 -21 พฤษภาคม 2558 โดยมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานกรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ให้เกียรติเป็นประธาน และศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงาน
รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่าเป้าหมายโครงการสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนโดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้สถานการณ์ปัญหาของบ้านเมืองจากโจทย์จริงของสังคม เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 และมีสำนึกพลเมือง
“การดำเนินโครงการในปีนี้ นับเป็นปีสอง ซึ่งในปีแรกที่มีสถาบันการศึกษาลงนามข้อตกลงความร่วมมือ ( MOU) ร่วมโครงการฯ เพียง 6 แห่ง ในปีนี้ มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมเพิ่มอีก 6 แห่ง 7 คณะ รวมเป็น 11 แห่ง 14 คณะ เพราะทุกคนเห็นประโยชน์ร่วมกัน สำหรับเป้าหมายในการจัดเวทีเผยแพร่ผลงานด้านสื่อของนักศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการสร้างกระแสให้สังคมเห็นตัวอย่างของมหาวิทยาลัยที่ร่วมกับภาคประชาสังคมในการจัดการเรียน การสอนให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากโจทย์จริงของสังคม ซึ่งทำให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาทั้งในด้านทักษะการทำงาน ทักษะชีวิต และทักษะการผลิตสื่อ การมีโลกทัศน์ที่กว้างขึ้นเข้าใจสังคมและมีสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นการสร้างพลเมืองตื่นรู้อันเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยในระยะยาว”
นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า ผลการดำเนินโครงการเสริมสร้างพลังเยาวชนสร้างสรรค์สื่อฯ มีความเข้มข้นขึ้น โดยมีอาจารย์ และผู้บริหาร จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มาร่วมกันคิดออกแบบกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ให้นักศึกษาได้ชัดขึ้น จะเห็นว่าปีนี้หลายมหาวิทยาลัยได้เชื่อมโยงกิจกรรมภายใต้โครงการเข้าไปเชื่อมกับการจัดการเรียนการสอนในคณะของตัวเอง และมีวิธีการจัดการที่หลากหลาย ซึ่งทำให้เห็นโอกาสในการพัฒนาไปสู่การสร้างสรรค์ “นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอน” ของแต่ละสถาบันให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้นในระยะต่อไป
“การดำเนินโครงการในปีที่ 3 สสส. และมูลนิธิสยามกัมมาจล มสช.ร่วมทั้งภาคีเครือข่าย ภาคประชาสังคม ยังคงจับมือสภาคณบดีศิลปศาสตร์แห่งประเทศไทย รวมทั้งภาคีภาคเอกชนที่จะเข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติมอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อร่วมกันผลักดันให้มีการนำรูปแบบการจัดการเรียนการสอนเข้าไปบรรจุในรายวิชาหรือหลักสูตรของสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ และการขยายผลสู่เครือข่ายมหาวิทยาลัยอื่นๆ ให้กว้างขวางขึ้น”
ช่วงบ่ายมีเวทีเสวนา “การจัดการเรียนรู้...จากโจทย์จริงสู่ชั้นเรียน” โดยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เข้าร่วมอาทิ ม.รังสิต ม.ศิลปากร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ม.สงขลา วิทยาเขตปัตตานี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.บูราพา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่างสะท้อนการการจัดการเรียนรู้..จากโจทย์จริงสู่ชั้นเรียน อาทิ ม.รังสิต เน้นให้เด็กคิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเอง อาจารย์เป็นเพียงที่ปรึกษา จุฬาฯ เน้นให้เด็กเป็นคนช่างสงสัย ตั้งคำถาม ม.บูรพา พบว่าการศึกษานอกห้องเรียนมีคำตอบเยอะกว่าในห้องเรียน ม.ศิลปากร แค่คุมคอนเซ็ปต์งานแต่ทั้งหมดให้เด็กทุกคนได้ลองทำตามความถนัดของตนเอง และมอ.ปัตตานี ได้นำกิจกรรมนี้ไปบรรจุอยู่ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว "ทางมหาลัยได้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้จากโจทย์จริงได้บรรจุอยู่ในหลักสูตรปรับปรุง สาขานวัตกรรมการออกแบบและสร้างสรรค์สื่อ คณะวิทยาการสื่อสาร ในปี 3 เทอม 2 เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ทั้งอาจารย์และนักศึกษาไม่ต้องเสียเวลาเพราะได้ใช้เป็นคะแนนไปเลย"
และปิดท้ายเวทีแลกเปลี่ยน “เรื่องเล่านอกห้องเรียน” โดยนักศึกษาที่เข้าร่วมทั้งปีที่ 1 และ 2 ต่างสะท้อนการเข้าร่วมโครงการนี้ว่า "การเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้เกิดความตระหนักถึงข้อมูลว่าถ้าเราหาข้อมูลได้ไม่ถูกต้องและนำเสนอออกไปจะแย่แค่ไหนและการหาข้อมูลก็ไม่ได้อยู่แค่ในอินเตอร์เนต ต้องลงพื้นที่ถึงจะรู้จริง และทำให้มีความเข้าใจกับปัญหาสังคมมากขึ้นว่ามีมากขนาดไหน และปัญหาไหนแก้ได้ในระยะสั้น หรือต้องแก้ในระยะยาว และคิดว่าเราทำงานสื่่อ การออกแบบก็คือการช่วยเหลือสังคมทางหนึ่งของเรา และพวกเราได้สัมผัสกระบวนการคิดจริง ทำจริง ไม่ได้ติดอยู่แต่ในห้องเรียน ได้ประสบการณ์ในการทำงาน..."
สำหรับผลงานของนักศึกษามีดังนี้ ประเด็นทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 1.คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ม.ศิลปากร ชื่อผลงานเพราะมีค่ามากกว่า 2.คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาภาพยนตร์และดิจิทัลมีเดีย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ชื่อผลงานNo Coal Save Krabi 3.คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.นเรศวร ชื่อผลงาน ท่า เปลี่ยน !? 4.คณะวิทยาการสื่อสาร สาขานวัตกรรมการออกแบบและสร้างสรรค์สื่อ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 5.คณะครุศาสตร์อุตสาหรรมและเทคโนโลยี ภาควิชาโครงการร่วมบริหารหลักสูตรมีเดียอาร์ตและเทคโนโลยีมีเดีย ม.พระจอมเกล้าธนบุรี ชื่อผลงานป่าชายเมือง ประเด็นที่ดินทำกิน 1.คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขานิเทศศิลป์ ม.บูรพา ชื่อผลงานที่ดินของใคร ประเด็นเกษตรกรรม 1.คณะศิลปกรรมศาสตร์ ทีมที่ 1จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชื่อผลงาน ซุปเปอร์มาเก็ต 2.คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ ทีมที่ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชื่อผลงาน ต่างปลูก ต่างแปลง ประเด็นเด็กเยาวชน 1.คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร ชื่อผลงาน CreativeShields 2.คณะศิลปกรรมศาสตร์ ทีมที่ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชื่อผลงาน Word can kill 3.คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม สาขาวิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ทีมที่ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชื่อผลงานจับต้นชนปลาย ประเด็นคนพิการ 1.คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ ม.อัสสัมชัญ ชื่อผลงาน My Right ความฝัน ขาฉัน ไดอารี่ 2.คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์-ผังเมือง-นฤมิตศิลป์ ม.มหาสารคาม ชื่อผลงาน ฉัน (ไม่) พิการ 3.คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร ชื่อผลงาน WILL SHARE (Wheel Chair) ประเด็นแรงงานและกลุ่มชาติพันธ์ 1.คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.กรุงเทพ ชื่อผลงานคู่มือการใช้ชีวิตของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย 2.คณะศิลปะและการออกแบบ ม.รังสิต ชื่อผลงาน (IM) PORTFOLIO พอร์ทโฟลิโอข้ามชาติ ซึ่งนิทรรศการผลงานของนักศึกษาทั้ง 16 ผลงานยังมีการนำนิทรรศการดังกล่าวมาหมุนเวียนจัดแสดงยังสถานที่ต่างๆสามารถ ติดตามความเคลื่อนไหวและผลงานเยาวชนได้ที่โซเชี่ยลมีเดีย - Facebook : ThailandAcitveCitizen - Facebook : University Network for Change : UNC - Facebook : มูลนิธิสยามกัมมาจล และwww.scbfoundation.com