(ต่อ1) SET9: ตลาดหลักทรัพย์แถลงผลการดำเนินงานรอบ 6 เดือน ปี 2542

ข่าวทั่วไป Monday July 19, 1999 10:31 —ThaiPR.net

การส่งเสริมระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ตลาดหลักทรัพย์ได้ส่งเสริมให้ บริษัทจดทะเบียนมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยได้กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนทุกบริษัทต้องจัดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2542 พร้อมทั้งมีมาตรการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง เช่น การให้บริษัทจดทะเบียนรายงานผลดำเนินการ หรือความคืบหน้าในการเตรียมการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ การลดค่าธรรมเนียมให้แก่บริษัทจดทะเบียนที่สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบได้ก่อนวันที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด การกำหนดมาตรการเพิกถอนบริษัทจดทะเบียนที่ไม่สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบภายในกำหนดเวลา รวมทั้งการจัดอบรมสัมมนาให้แก่ผู้บริหารระดับสูงและกรรมการของบริษัทจดทะเบียน
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาระบบกำกับดูแลกิจการที่ดี (Committee on Good Corporate Governance Development) เพื่อทำหน้าที่กำหนดกรอบการดำเนินงาน และให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้มีการพัฒนาระบบการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน บริษัทอื่น ๆ และรัฐวิสาหกิจที่มีการบริหารงานแบบเอกชน รวมทั้ง ยังกำหนดข้อพึงปฏิบัติสำหรับการจัดประชุม ผู้ถือหุ้น เพื่อเป็นแนวทางให้บริษัทจดทะเบียนได้ถือปฏิบัติในกรณีที่จะมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นอีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2542 มีบริษัทจดทะเบียนที่ได้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้ว จำนวน 140 บริษัท
การลดหย่อนค่าธรรมเนียม
ตลาดหลักทรัพย์ได้พิจารณาปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมรายปี ให้แก่บริษัทจดทะเบียนและหน่วยลงทุนเป็นการชั่วคราวเพื่อเป็นการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเร่งพัฒนาระบบการกำกับดูแลกิจการอย่างมีประสิทธิภาพโดยได้ปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมรายปีของบริษัทจดทะเบียนเป็นการทั่วไปเพิ่มเติมจากเดิมร้อยละ 5 เป็นอัตราร้อยละ 30 และลดค่าธรรมเนียมสูงสุดจากไม่เกิน 6,000,000 บาท เป็นสูงสุดไม่เกิน 4,000,000 บาท ในส่วนของหน่วยลงทุน ได้มีการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมรายปีของหน่วยลงทุนในอัตราร้อยละ 5
* การปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์จดทะเบียน
เพื่อเป็นการสนับสนุนวิสัยทัศน์ปี 2003 ของตลาดหลักทรัพย์ ในการปรับปรุงคุณภาพของบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการรับหลักทรัพย์ใหม่เพื่อให้เกณฑ์การรับหลักทรัพย์มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน โดยตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ด้านขนาดของกิจการและกำไรสุทธิ เกณฑ์การรับบริษัทที่เกิดจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ยกเลิกเกณฑ์บริษัทจดทะเบียนภูมิภาค และโครงการอุตสาหกรรมพื้นฐาน รวมทั้งอยู่ระหว่างร่างเกณฑ์การรับหลักทรัพย์แบบ Disclosure based เพื่อให้พร้อมรับบริษัทจดทะเบียนที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.
การออกหลักเกณฑ์การใส่ชื่อบุคคลใดในบัญชีดำ
ตลาดหลักทรัพย์ได้ออกหลักเกณฑ์การใส่ชื่อ และเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่ตลาดหลักทรัพย์ไม่ยอมรับเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนและบริษัทที่ยื่นคำขอเป็นบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้สอดคล้องและบรรลุวัตถุประสงค์ของหลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์จดทะเบียน และข้อกำหนดเพื่อการดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อีกทั้ง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาของตลาดหลักทรัพย์ ในการบันทึกรายชื่อบุคคลที่ไม่ยอมรับให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน และบริษัทที่ยื่นคำขอเป็นบริษัทจดทะเบียน และเพื่อใช้เป็นมาตรการลงโทษต่อบุคคล ซึ่งกระทำความผิดตามกฎหมาย และเป็นการป้องปรามมิให้มีผู้กระทำผิดอีกในอนาคต
3. ด้านการส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทสมาชิก
การขึ้นทะเบียนผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์
ตลาดหลักทรัพย์ได้เสนอแนวทาง ที่จะยกระดับมาตรฐานวิชาชีพของผู้บริหารที่ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ให้เป็นที่ยอมรับและได้รับความเชื่อถือจากสาธารณชน โดยให้ผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งบริษัทสมาชิกและบริษัทหลักทรัพย์ที่มิใช่สมาชิก ต้องขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์และผ่านการอบรมตามหลักสูตรขึ้นทะเบียนผู้บริหารภายใน 6 เดือนนับจากวันที่ขึ้นทะเบียน รวมทั้งเข้าอบรมหลักสูตรต่อเนื่องของตลาดหลักทรัพย์ทุก 2 ปีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์ แนวทางดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์ รวมทั้ง การพัฒนาตลาดทุนโดยรวมด้วย
การปรับปรุงขั้นตอนและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาลงโทษสมาชิกผู้บริหาร และผู้รับใบอนุญาต
ตลาดหลักทรัพย์ได้พิจารณาปรับปรุงขั้นตอน และหลักเกณฑ์การพิจารณาลงโทษบริษัทสมาชิก ผู้บริหารและผู้รับใบอนุญาต พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการลงโทษปรับและการเปิดเผยมติลงโทษสมาชิก ผู้บริหาร และผู้รับใบอนุญาต จำแนกตามประเภทของความผิดให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้กระบวนการพิจารณาลงโทษบริษัทสมาชิก ผู้บริหาร และผู้รับใบอนุญาต มีความชัดเจน เป็นระบบ โปร่งใส และเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง
4. ด้านส่งเสริมการเพิ่มสินค้าหรือตราสารประเภทใหม่
การจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ใหม่ หรือ Market for Alternative Investment : MAI
ตลาดหลักทรัพย์ใหม่ ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2542 โดยดำเนินการแยกต่างหากจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กโดยเฉพาะอุตสาหกรรมส่งออก อุตสาหกรรมที่รัฐบาลมุ่งให้การส่งเสริมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ หรืออุตสาหกรรมการผลิตที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ตลาดหลักทรัพย์ใหม่นี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้กับธุรกิจที่กำลังเติบโตและมีอนาคตดี ให้สามารถขยายปริมาณธุรกิจออกไปได้ นับเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่ง รวมทั้งเป็นทางเลือกใหม่ของนักลงทุนด้วย (ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ