กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--PwC ประเทศไทย
PwC เผยผลสำรวจพบความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมถึงการเพิ่มขึ้นของกฎระเบียบข้อบังคับ และการขาดแคลนทรัพยากร จะกลายเป็น ‘กระแสโลก’ ที่ส่งผลกระทบต่อสมดุลของตลาดทุนโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า ขณะที่แรงกดดันในการสร้างผลกำไรให้แก่ลูกค้า เทคโนโลยี และการดึงดูดและรักษาคนเก่ง จะเป็นความท้าทายที่ธุรกิจต้องเผชิญ ชี้มีโอกาสเห็นศูนย์กลางการเงินในเอเชียผุดเพิ่ม แข่งลอนดอน–นิวยอร์ก พร้อมแนะ 6 กลยุทธ์รับมือการเปลี่ยนแปลง
นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Capital Markets 2020: Will it change for good? ที่ได้ทำการสำรวจผู้บริหารตลาดทุนและผู้นำในแวดวงอุตสาหกรรมการเงินทั่วโลกกว่า 250 ราย แบ่งออกเป็นผู้บริหารในสายอุตสาหกรรมตลาดทุนที่มีการทำธุรกรรมให้แก่ลูกค้า อาทิ วาณิชธนกิจ นายหน้าค้าหลักทรัพย์
โบรกเกอร์ หรือตลาดหลักทรัพย์ และกลุ่มที่เป็นผู้ใช้บริการ อาทิ กองทุนไพรเวทอควิตี้ กองทุนบำเหน็จบำนาญ เฮ็จฟันด์ บริษัทประกัน ธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร และบริษัทจดทะเบียน ต่างๆ ว่า แม็คโครเทรนด์ 4 ประการ ประกอบด้วย ความผันผวนของเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมโลก การเพิ่มขึ้นของกฎระเบียบข้อบังคับ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการขาดแคลนทรัพยากร จะเปลี่ยนแปลงตลาดทุนทั่วโลกในปี 2563
“เรามองว่าบทบาทของตลาดทุนในอีก 5 ปีข้างหน้าจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นต่อธุรกิจการเงิน โดยเป็นแหล่งของการระดมทุน และช่วยวางรากฐานการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ขณะที่กระแสแม็คโครเทรนด์เหล่านี้ จะเป็นตัวเร่ง หรือผลักดันให้เกิดการปฏิวัติปัจจัยพื้นฐานของอุตสาหกรรมบางประการในอนาคต ซึ่งผู้เล่นทั้งหลายต้องเตรียมรับมือกับความเสี่ยงตั้งแต่วันนี้ หากต้องการให้ธุรกิจอยู่รอด” นายศิระกล่าว
สำหรับตัวอย่าง ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่จะทำให้โครงสร้างตลาดทุนเปลี่ยนแปลงไปนั้น เช่น ในบางประเทศที่มีปัญหาความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง หรือมีความเสี่ยงสูงต่อการดำเนินธุรกิจ อาจถูกตัดขาดจากแหล่งเงินทุนหรือโครงสร้างทางการเงินโดยสิ้นเชิง หรือในบางกรณี การเพิ่มขึ้นของกฎระเบียบข้อบังคับของตลาดส่งผลให้เกิดแรงกดดันในด้านต้นทุน ค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ผู้ประกอบการบางรายอาจต้องปรับรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงหรือสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ บางรายต้องปรับตัวกับการแข่งขันที่รุนแรงจากการเกิดผู้เล่นหน้าใหม่ทั้งในและนอกตลาด (การระดมทุนในรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต เช่น Crowdfunding, การกู้ยืมโดยตรงจากเจ้าของเงิน (Peer-to-peer lending), การระดมเงินนอกภาคธนาคาร หรือ ธนาคารเงา ฯลฯ) ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ และการขาดแคลนทรัพยากร อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน การขยายตัวของสังคมเมือง จะก่อให้เกิดตลาดและลูกค้ารายใหม่
รายงานยังพบว่า ความท้าทาย 3 ประการที่ผู้บริหารในแวดวงตลาดทุนทั่วโลกต่างให้ความสำคัญมากที่สุด ได้แก่ การเพิ่มผลกำไรให้แก่ลูกค้า (36%) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ (33%) และการดึงดูดและรักษาพนักงานที่เป็นทาเลนต์ (33%) ซึ่งความท้าทายเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยที่กดดันบริษัทที่ประกอบธุรกิจในตลาดทุน โดย 84% ระบุว่า พวกเขารับรู้และเตรียมความพร้อมรับมือความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรม แม้บางรายยังจะยังเผชิญปัญหาในการรักษาระดับการทำกำไร ซึ่งเป็นผลมาจากข้อบังคับตลาดที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันที่ผู้บริหารถึง 56% มองเรื่องของการเพิ่มสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า(Client offerings) เป็นภารกิจสำคัญอันดับต้นๆ
นายศิระยังกล่าวเสริมว่า แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank entrants) อาทิ การระดมทุนในรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต เช่น Crowdfunding, การกู้ยืมแบบ Peer-to-peer และ ธนาคารเงา อย่างที่กล่าวไปข้างต้นจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ โดยผู้บริหารตลาดทุนถึง 70% เชื่อว่าธุรกิจนอกภาคธนาคารเหล่านี้จะเป็นภัยคุกคามทั้งในระดับกลางถึงระดับรุนแรงต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม
ขณะที่เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วได้สร้างความกังวลให้ผู้บริหารตลาดทุนเช่นกัน ซึ่ง 93% ของผู้บริหารระบุว่า การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและอำนวยความสะดวกต่อการดำเนินงาน และการกำกับดูแลที่เปลี่ยนแปลงไปถือเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊ก ดาต้า) และการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง ซึ่งจะส่งผลดีไปยังผู้บริโภคในที่สุด อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่เกิดการใช้เทคโนโลยี จะทำให้ตลาดทุนต้องเผชิญกับปัญหาภัยคุกคามในโลกไซเบอร์ (Cyber threat) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการถูกโจมตีอาจทำระบบปฏิบัติการ หรือระบบโครงสร้างพื้นฐานเกิดความเสียหาย หรือ หยุดชะงักได้
จับตา ‘เอเชีย’ ผุดศูนย์กลางตลาดทุนแห่งใหม่เพิ่ม
ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า เอเชีย จะกลายมาเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญในตลาดทุนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยผู้บริหารตลาดทุนถึง 76% คาดว่า ภายในปี 2563 จะมีศูนย์กลางทางการเงินแห่งใหม่เกิดขึ้นและกลายมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญของตลาดยักษ์ใหญ่ เช่น ลอนดอนและนิวยอร์ก ซึ่งผู้บริหารตลาดทุนมองว่า เอเชียจะเป็นศูนย์กลางทางเงินที่ทรงอิทธิพลแห่งที่สามของโลก
อย่างไรก็ดี นายศิระ มองว่า ตลาดมหาอำนาจทั้งสองจะยังคงเป็นผู้นำทางการเงินของโลกต่อไป เนื่องจากมีความพร้อมทั้งในด้านเสถียรภาพ ความโปร่งใส ระบบตรวจสอบที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งเครื่องไม้เครื่องมือทางการเงิน และเทคโนโลยีที่ครบครันกว่า ใน ขณะที่ตลาดทุนในเอเชียซึ่งส่วนใหญ่เป็นขนาดรอง หรือ Second-tier markets ยังไม่แข็งแกร่งเท่า แต่สิ่งที่อาจเกิดขึ้น คือ การผนึกกำลังของตลาดทุนในเอเชียมากกว่า ในอนาคตจะเห็นการเพิ่มขึ้นของศูนย์กลางทางการเงินในเอเชีย นอกเหนือจากฮ่องกง, เซี่ยงไฮ้, โตเกียว หรือสิงคโปร์ นอกจากนี้ จะเห็นตลาดทุนในภูมิภาคนี้ที่มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นด้วย
นายศิระ กล่าวทิ้งท้ายว่า มี 6 ภารกิจหลักที่ผู้บริหารตลาดทุนต้องให้ความสำคัญและนำมาปรับใช้กับองค์กร เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเหล่านี้ในปี 2563 ได้แก่ 1. จัดการความเสี่ยงเชิงรุก ทั้งความเสี่ยงจากธุรกิจ กฎระเบียบ และเงินทุน 2.สร้างพฤติกรรมและวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง 3. ปรับนิยามรูปแบบการทำธุรกิจโดยนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ 4. ปรับรูปแบบการปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ เช่น การวางระบบงานไอทีอัตโนมัติ การใช้ประโยชน์จากระบบงานส่วนกลางและหลังบ้าน เพื่อลดความซับซ้อนในการดำเนินงาน และช่วยลดต้นทุน 5. ส่งเสริมให้เกิดการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ 6. ใช้ประโยชน์จากข้อมูลในด้านต่างๆ เพื่อการวิเคราะห์คู่แข่งและลูกค้า
“การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นกับแวดวงตลาดทุนทั่วโลกนี้ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ฉะนั้นผู้ประกอบการที่ต้องการอยู่รอด จะต้องปรับตัวให้เร็ว และทัน อีกทั้งต้องทำงานในเชิงรุกตั้งแต่วันนี้ ดีกว่ารอให้อีก 5 ปีมาถึงก็สายไปแล้ว”