กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
ในฐานะของประธานชมรมจักรยานมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี และในฐานะที่ปั่นจักรยานบนท้องถนน ประมาณ 4 ปี ที่ปั่นจักรยานมาเรียนมหาวิทยาลัยฯ และใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง เพราะว่าต้องการประหยัดเงิน ทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรง ที่สำคัญยังได้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยครับ” น้ำเสียงแห่งความภาคภูมิใจ “อั๊ฟ” นายพันธนันท์ ดวงศรี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาศิลปะไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ภาพที่คุ้นตาของหลายๆ คน บนถนนเส้นรังสิต-นครนายก
อั๊ฟ เล่าว่า เข้ามารับหน้าที่ประธานชมรมจักรยานคลอง 6 ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 เทอม 2 โดยปัจจุบันมีสมาชิกชมรมประมาณ 100 คน ซึ่งภายในชมรมจะจัดกิจกรรมในการปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพภายในมหาวิทยาลัยฯ ทุกอาทิตย์ เพื่อเป็นการช่วยโลก กว่า 4 ปีที่ตนเองปั่นจักรยานมามหาวิทยาลัยฯ ระยะทางจากบ้านที่ลำลูกกาคลอง 2 ถึงมหาวิทยาลัยฯ ประมาณ 20 กิโลเมตร ถ้านั่งรถโดยสารประจำทางใช้เวลา 2 - 3 ชั่วโมง แต่ตนเองใช้ระยะเวลาในการปั่นจักรยานมามหาวิทยาลัยฯ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ออกจากบ้านเวลา 07.00 - 08.00 น. ซึ่งสามารถประหยัดเงินไปกลับบ้านได้ถึง 160 บาท
จักรยานผูกพันกับตนเองมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่จำความได้ เห็นพ่อและแม่ปั่นจักรยาน โดยพ่อและแม่จะปั่นจักรยานเพื่อออกไปขึ้นรถหน้าปากซอย โดยพ่อทำงานเป็น รปภ. อยู่ที่บิ๊กซี นวนคร ส่วนแม่เป็นพนักงานขายรองเท้าอยู่ที่ห้าง ได้เห็นพ่อและแม่ปั่นทุกวัน เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้รักในการปั่นจักรยาน ปัจจุบันการปั่นจักรยานได้รับความนิยมเป็นอย่างมาในสังคมไทย รวมไปถึงมีการรณรงค์ให้คนไทยหันมาปั่นจักรยานมากขึ้น หรืออาจจะมีกระแสมาจากดาราบางคนให้ความสนใจกับการปั่นจักรยาน ร่วมไปถึงชมรมต่างๆ “ดีใจที่คนไทยหันมาปั่นจักรยานมากขึ้น”
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์นักปั่นจักรยาน 5 ทวีป ชาวชิลีที่ถูกรถกระบะชนจนเสียชีวิต กลุ่มนักปั่นจักรยานชาวเชียงใหม่ถูกรถของนักศึกษาพุ่งชนจนเสียชีวิต 3 ศพ และได้รับบาดเจ็บ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนถนนเส้นรัชดา-รามอินทรา นักปั่นสาวถูกรถชนจนเสียชีวิต สะท้อนให้เห็นถึงถนนของประเทศไทยที่ยังไม่เอื้ออำนวยความสะดวกในการใช้จักรยาน ตั้งแต่ตนเองปั่นจักรยานมา เคยประสบอุบัติ 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดจากความประมาทของตนเอง จักรยานล้มเพราะว่ามองไม่เห็นหลุม และครั้งที่สอง รถมอเตอร์ไซต์ชนข้างหลังขณะปั่นจักรยานในหมู่บ้าน แต่เหตุการณ์ทั้งสองครั้ง ตนเองไม่ได้รับบาดเจ็บ
มุมมองของคนปั่นจักรยาน ถ้าท้องถนนในประเทศไทยยังไม่เอื้อต่อการปั้นจักรยาน แต่ต้องใช้จักรยานในการเดินทางไปไหนมาไหน ดังนั้นต้องมี “สติ” ต้องระมัดระวังตนเองไม่ประมาทเมื่ออยู่บนท้องถนน พยายามเซฟความปลอดภัยตนเองให้มากที่สุด ใส่หมวก ติดไฟ ใส่ชุดที่ป้องกัน พยายามใส่เสื้อผ้าที่มองเห็นชัดเจน ฝากถึงน้ำใจบนท้องถนนของผู้ใช้พาหนะชนิดอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซต์ รถยนต์ ผู้ขับควรมีสติไม่ประมาท “เมาไม่ขับ”รักษากฎจราจรบนท้องถนน อุบัติเหตุอาจจะลดลง และที่สำคัญผู้รักในการปั่น บางคนชอบใส่หูฟังเพลง ควรจะหลีกเลี่ยงเปิดเสียงดัง จะทำให้ไม่ได้ยินเวลามีเสียงแตร ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
ปัจจุบันตนเองมีจักรยานอยู่ 4 คัน เป็นจักรยานโบราณทั้ง 2 คัน โดยคันแรกวงล้อ 128 ซื้อมาจากร้านขายของเก่าในราคา 4,500 บาท และรุ่นพี่ที่สาขาวิชาให้มาเมื่อเทอมที่ผ่านมา เนื่องจากรุ่นพี่เห็นว่าตนเองชอบปั่นจักรยาน สำหรับจักรยานโบราณจะใช้งานเฉพาะเวลาที่ต้องขนของมาส่งอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฯ ซึ่งช่วงนี้ตนเองปั่นจักรยานมาเรียน เนื่องจากต้องส่งงานอาจารย์ทุกอาทิตย์ ส่วนอีก 1 คันเป็นจักรยานเสือภูเขารุ่น GT เป็นจักรยานที่ตนเองทำงานพิเศษผ่อน ซึ่งปัจจุบันผ่อนหมดแล้ว สำหรับจักรยานคันนี้มีน้ำหนักค่อนข้างเบา เหมาะที่จะปั่นที่ต้องการความคล่องตัวเดินทางไปไหนมาไหน หรือวันที่ไม่มีงานส่งอาจารย์ จะปั่นมามหาวิทยาลัย และคันที่ 4 วงล้อ 126 ซื้อมาจากร้านขายของเก่าในราคา 400 บาท เอามาซ่อมคันนี้ตนเองเคยปั่นมาเรียน แต่ตนเองได้ให้รุ่นน้องคนในชมรมไปใช้งาน
จักรยานมีให้เลือกหลายรุ่นในปัจจุบันมีหลายราคา ใครที่จะซื้อจักรยานอยากให้มองในเรื่องประโยชน์ใช้สอยดีกว่า ถ้าซื้อมาแพง แต่ซื้อมาจอดไว้ที่บ้าน หรือว่าต้องการซื้อมาออกกำลัง ควรซื้อให้เหมาะกับการออกกำลังกาย ประสบการณ์ในการเดินทางปั่นจักรยานของตนเอง “ผมปั่นไปสัมมนาองค์การนักศึกษา มทร.ธัญบุรี ถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา” ซึ่งเป็นการปั่นจักรยานที่ไกลที่สุดในชีวิต สำหรับผู้ที่สนใจอยากลองหันมาใช้จักรยานเป็นพาหนะในการเดินทาง นอกจากที่จะปั่นแล้ว ควรคำนึงถึงความปลอดภัย ส่วนตัวจะปั่นจักรยานมามหาวิทยาลัยฯ จนกว่าจะสำเร็จการศึกษา เนื่องจาก 1. ในเรื่องของสุขภาพ ถือเป็นการออกกำลังกาย 2. ประหยัดเงิน 3. ช่วยสิ่งแวดล้อมไม่ปล่อยมลพิษทางอากาศ
“หมวก เสื้อเชิ้ตนักศึกษาแขนยาว กางเกงขายาว รองเท้าหุ้มส้นหนัง อาศัยตอนเช้าไม่มีแดดปั่นมาเรียนมหาวิทยาลัยฯ ระยะทาง 20 กม. เหนื่อยบ้าง หรือว่ามีอุปสรรคบนท้องถนนบ้าง แต่มันก็ไม่ใช่ปัญหาการเดินทางของผม เพื่อช่วยโลกของเรา ลดโลกร้อน ถึงผมจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ถ้าเราไม่ช่วยกันทำแล้วใครจะทำครับ” ประธานชมรมจักรยาน คลอง 6 มทร.ธัญบุรี กล่าวทิ้งท้าย