เอกอัครราชฑูตต่างประเทศเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี

ข่าวทั่วไป Monday June 23, 1997 06:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--23 มิ.ย.--ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2540 น.เวลา 09.00 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางอิงงา อีริกสัน ฟก (Mrs.Ingga Eriksson Fogh) เอกอัครราชฑูตสวีเดนประจำประ ประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ใหม่ ในการพบปะดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายได้สนทนาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างกันในด้านต่างๆ อาทิ ความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันในด้านเศรษฐกิจและการค้า ด้านเทคโนโลยีและวิชาการ ด้านการป้องกันและด้านการพัฒนาชุมชน รวมทั้งแนวทางการปฏิรูปการศึกษา เป็นต้น สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
เอกอัครราชฑูตสวีเดน กล่าวแสดงความรู้สึกยินดีที่ได้เดินทางมารับตำแหน่งในประเทศไทย ด้วยประทับใจในมิตรภาพอันอบอุ่นของคนไทย และความสวยงามของประเทศไทย ตลอดเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยและสวีเดนต่างมีความสัมพันธ์อันแน่นเฟ้นระหว่างกัน และมีการแลกเปลี่ยนการเยือนกันในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับพระราชวงศ์ ข้าราชการระดับสูง และนักธุรกิจ นอกจากนี้ในสัปดาห์หน้า รัฐมนตรีด้านการคลังของสีเดนก็มีกำหนดการเดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อร่วมหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยด้วย ในการนี้ เอกอัครราชฑูตสวีเดน ยังได้ถึงเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมความร่วมมือในระยะยาวของประเทศ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกัน โดยจะช่วยส่งเสริมในด้านการค้าและการส่งออกระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจะให้ความสนับสนุนนักธุรกิจสวีเดนที่มีแผนเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และช่วยเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทยให้แก่กลุ่มนักธุรกิจดังกล่าว สำหรับความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกันในด้านอื่นๆ ยังได้แก่ ด้านการป้องกันทางการทหาร และความช่วยเหลือด้านการพัฒนาชนบท
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีและเอกอัครราชฑูตสวีเดนยังได้หารือกันในเรื่องการปฏิรูปการศึกษา และต่างเห็นพ้องกันว่า เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายเร่งปฏิรูปการศึกษา และได้จัดสรรงบประมาณให้แก่ภาคการศึกษาคิดเป็นร้อยละ 24 ของงบประมาณของประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนในครอบครัวที่มีฐานะยากจนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและสูงขึ้น และเพื่อขยายระยะเวลาของการศึกษาภาคบังคับสำหรับเด็กนักเรียนออกไป ซึ่งแผนการปฏิรูปการศึกษานี้ จะช่วยตอบสนองความต้องการของประเทศไทยในด้านแรงงานที่มีทักษะความชำนาญมากขึ้น
ในการนี้ เอกอัครราชฑูตวีเดนแจ้งว่า รัฐบาลสวีเดนเองก็มีวิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นการปฏิปการศึกษา เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของทุกประเทศ ดังนั้น รัฐบาลจึงประสงค์ให้ประชาชนของตนได้รับการศึกษาอย่างดีที่สุด โดยเฉพาะในการพัฒนาทักษะและการฝึกอบรมด้านวิชาชีพที่เน้นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เนื่องด้วยกำลังเป็นทิศทางใหม่ในสังคม สำหรับแผนการดำเนินการปฏิรูปการศึกษาในสวีเดนนั้น มีระยะเวลานานประมาณ 20 ปี
ต่อมาในเวลา 09.20 น. ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายรามิน เมห์มันปาราสต์ โนเดฮี (Mr.Ramin Mehmanparast Nodehi) เอกอัครราชฑูตอิหร่านประจำประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่เช่นกัน โดย ระหว่างการพบปะกัน ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกันในเรื่องการขยายลู่ทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน การจัดทำความตกลงด้านการบินจากอิหร่านมายังประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและอิหร่าน ซึ่งดำเนินมากว่า 40 ปี ทั้งนี้ เอกอัครราชฑูตอิหร่านเห็นพ้องว่า อิหร่านและประเทศไทยได้ร่วมมือกันอย่างดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ และปรารถนาที่จะส่งเสริมและขยายความร่วมมือดังกล่าวให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสร้างความสมดุลทางการค้าระหว่างกัน ในปัจจุบันอิหร่านได้นำเข้าข้าวจากประเทศไทยปีละประมาณ 300,000 ตัน นอกจากนี้ ประเทศทั้งสองยังมีคณะกรรมาธิการร่วมด้านเศรษฐกิจไทย-อิหร่าน ซึ่งสามารถช่วยประสานความร่วมมือกันได้อย่างดี ในการนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวชื่นชมการปฏิบัติงานของเอกอัครราชฑูตอิหร่านในการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าและการส่งออกระหว่างกันว่า ดำเนินรุดหน้าไปอย่างมาก สำหรับในส่วนของประเทศไทย จะเร่งดำเนิน การในเรื่องต่างๆ ที่ยังคั่งค้างอยู่ให้มีความคืบหน้ามากขึ้น และเห็นว่าอิหร่านควรใช้ประเทศไทยเป็นฐานเศรษฐกิจในการขยายการค้าและการลงทุนกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ในทำนองเดียวกันประเทศไทยก็จะใช้อิหร่านเป็นประตูทำการค้าและการลงทุนกับประเทศในตะวันออกกลางด้วย
นอกจากนี้ เอกอัครราชฑูตอิหร่านยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกัน เพราะจะทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ทราบถึงศักยภาพที่แท้จริงของกันและกัน ทั้งนี้เมื่อเร็วๆ นี้ ประธานรัฐสภา (นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา) ก็ได้เดินทางไปเยือนอิหร่านและได้พบปะพูดคุยกับบุคคลระดับสูงของอิหร่าน เช่น ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีของอิหร่าน ตลอดจนประธานรัฐสภาของอิหร่านด้วย และในวันที่ 13 กรกฎาคม 2540 รัฐมนตรีด้านอุตสาหกรรมของอิหร่านจะเดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อหารือในโครงการความร่วมมือด้านปิโตรเลียมเช่นกัน
ในโอกาสเดียวกันนี้ เอกอัครราชฑูตอิหร่านยังได้หารือเรื่องการบิน โดยประสงค์ทำการบินมายังประเทศไทยโดยตรง และยังขอให้รัฐบาลไทยทบทวนกรณีผู้ต้องหาชาวอิหร่าน ซึ่งถูกศาลชั้นต้นของไทยตัดสินประหารชีวิตในคดีระเบิด ซี-4 เพื่อให้มีความชัดเจนและเป็นธรรมมากขึ้น เนื่องด้วยกำลังเป็นที่สนใจของสาธารณชนอิหร่าน อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีแจ้งว่า เรื่องนี้จะต้องดำเนินการตามครรลอง ของกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งอาจถึงที่สุดในชั้นศาลฎีกา ทั้งนี้รัฐบาลไทยจะดูแลเรื่องนี้ให้โปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ