กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีของสมาคมผู้ผลิตยางธรรมชาติ (Association of Natural Rubber Producing Countries : ANRPC) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 7 – 8 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยมีรัฐมนตรีจากประเทศกัมพูชา มาเลเซีย ศรีลังกา ไทย และเวียดนาม เข้าร่วมการประชุม พร้อมกับผู้แทนระดับสูงจากประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย ปาปัวนิวกินี และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติประมาณร้อยละ 92 ของผลผลิตยางของโลก เพื่อหารือความร่วมมือด้านยางพารา แนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นในระยะยาว และการเสริมสร้างบทบาทหน้าที่ของประเทศสมาชิก ANRPC ในการจัดทำข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการบริโภคยางพารา
ขณะเดียวกัน ยังได้เน้นย้ำให้ประเทศสมาชิก ANRPC ร่วมมือกัน ทั้งในด้านการผลิต การบริหารจัดการและการตลาด อาทิ การส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ยางธรรมชาติทั้งภายในประเทศและในต่างประเทศให้มากขึ้น การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายางธรรมชาติรวมทั้งการเพิ่มมูลค่ายางธรรมชาติในรูปแบบของวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงการประสานงานด้านการตลาด การสร้างโครงข่ายรองรับทางสังคมให้แก่เกษตรกรรายย่อย การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อยกระดับราคายางธรรมชาติให้สูงขึ้น ทำให้ราคายางมีเสถียรภาพ สนองตอบต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในระยะยาวและได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าจากการลงทุนด้านยางธรรมชาติ รวมทั้งที่ประชุมมีมติให้มีการส่งเสริมภารกิจ บทบาท และหน้าที่ของ ANRPC ให้มากขึ้น ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์กร คือ การบริหารจัดการด้านการผลิต การใช้ การส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ยางพาราให้มากขึ้น รวมทั้งการเชื่อมโยงและร่วมมือด้านการตลาดและเทคโนโลยีด้านการผลิตระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางธรรมชาติในระยะยาวอย่างยั่งยืน และเป็นธรรมให้แก่เกษตรกรรายย่อย ผู้ผลิต และผู้ใช้ยาง
“การส่งเสริมให้ ANRPC ดำเนินบทบาท และหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์กร ให้ครบถ้วนในทุกภารกิจ ทั้งการเป็นแหล่งข้อมูลอุตสาหกรรมยางธรรมชาติที่เป็นปัจจุบันและเชื่อถือได้ การพัฒนา การผลิต การแปรรูป การใช้ยางธรรมชาติ และการตลาด การใช้ยางธรรมชาติซึ่งเป็นวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอุตสาหกรรมยาง รวมทั้งการสร้างเครือข่ายกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งซึ่งจะช่วยให้ราคายางพารามีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น และจะส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนยางของไทยอีกด้วย” นายปีติพงศ์ กล่าว