กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--IR network
บริษัท ช. ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) หรือ CHO เผยตุนงานในมือกว่า 480 ล้านบาท รับรู้เป็นรายได้ตั้งแต่ไตรมาส 2/2558 เป็นต้นไป ด้านหัวเรือใหญ่ “สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย” มั่นใจรายได้ปีนี้ขยายตัวตามเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 15% เผยล่าสุดร่วมเสนอราคาประมูลรถเมล์ (NGV)และร่วมเจรจาต่อรองราคาค่าซ่อมบำรุงแล้ว อยู่ระหว่างรอลุ้นผลการประมูลภายในไตรมาส 2 นื้ ส่วนรถขนส่งพลังงานไฟฟ้าคันแรกของไทยที่ผลิตด้วยฝีมือคนไทย คาดเห็นคันแรกภายในปี 2559 นี้
นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช. ทวี ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ผู้ดำเนินธุรกิจออกแบบ สร้างสรรค์ ผลิตตัวถังและติดตั้งระบบวิศวกรรมยานยนต์ ผสานเทคโนโลยีระดับโลกเข้ากับการจัดการอย่างมืออาชีพ เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทมีปริมาณงานในมือ (Backlog) ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศที่ไม่รวมรถเมล์ (NGV) มูลค่าประมาณ 480 ล้านบาท ซึ่งจะสามารถทยอยรับรู้เป็นรายได้ตั้งแต่ไตรมาส 2/2558 เป็นต้นไป อีกทั้งยังอยู่ระหว่างรอลุ้นผลประมูลงานใหม่อีกจำนวนมาก
“แนวโน้มการเติบโตของรายได้ในกลุ่มงานผลิตภัณฑ์มาตรฐาน และกลุ่มงานผลิตภัณฑ์ออกแบบพิเศษจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 15% จากปีก่อน เนื่องจากปริมาณงานในมือที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) ทั้งในและต่างประเทศอยู่อีกประมาณ 480 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้เป็นรายได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 นี้” นายสุรเดช กล่าว
ส่วนความคืบหน้าโครงการประมูลงานจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน (ครั้งที่ 3) ด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น บริษัทได้เข้าร่วมการเสนอราคารถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในครั้งล่าสุดที่ผ่านมา และร่วมเสนอราคาค่าซ่อมบำรุงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการสรุปผลและประกาศแจ้งผลการพิจารณาคัดเลือก
“บริษัทได้เข้าร่วมการเจรจาราคาค่าซ่อมบำรุงรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการจะสามารถประกาศผลการประมูลงานอย่างเป็นทางการได้ภายในไตรมาส 2/2558 นี้ และถ้าหากว่าบริษัทได้รับงานดังกล่าวแล้ว บริษัทเชื่อมั่นว่าจะส่งผลดีต่อรายได้และกำไรของบริษัททั้งในระยะสั้นและระยะยาว” นายสุรเดช กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างร่วมดำเนินโครงการการพัฒนายานยนต์และพลังงานทางเลือกในระบบโลจิสติกส์ “รถขนส่งพลังงานไฟฟ้า” ขนาดเล็กและขนาดกลาง (4-6 ล้อ) เพื่อให้เหมาะสมแก่ผู้ประกอบการทั่วไป ซึ่งจะเป็นการพัฒนารถขนส่งเชิงพาณิชย์ขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์คันแรกของประเทศไทย ที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์เป็นคันแรกภายในปี 2559
“เราไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของคนไทย และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมไทย และหวังว่าจะเป็นอีกแรงผลักดันหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองของธุรกิจในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น ประกอบกับในอนาคตไทยจะก้าวเข้ามาเป็นประเทศศูนย์กลางคมนาคมของภูมิภาคอาเซียนหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซี่ยน (AEC) และบริษัทมีวัตถุประสงค์ให้รถขนส่งพลังงานไฟฟ้าคันนี้มาช่วยลดภาระต้นทุนด้านโลจิสติกส์แก่ผู้ประกอบการได้ในระยะยาว และมลภาวะให้โลกของเรา” นายสุรเดช กล่าวในที่สุด