กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการเปิดงานประชุมชี้แจงการส่งเสริมระบบการผลิตและการค้าข้าวเหนียวไทย ณ สหกรณ์การเกษตรบ้านไผ่ จำกัด จังหวัดขอนแก่น ว่า ข้าวเหนียวเป็นสินค้าที่มีความสำคัญต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งด้านวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของชาวนาไทย โดยปัจจุบันไทยมีการผลิตข้าวเหนียวเพื่อบริโภคภายประเทศร้อยละ 95 และมีการส่งออกข้าวเหนียวร้อยละ 5 ซึ่งเพาะปลูกมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน โดยมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 16.7 ล้านไร่ และมีผลผลิตประมาณ 5 – 8 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวเหนียวอันดับหนึ่งในตลาดโลก โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ทั้งในอาเซียนและตลาดเอเชีย ที่เป็นประเทศผู้นำข้าวเหนียวกว่าร้อยละ 50 ในตลาดโลกยังนิยมบริโภคข้าวเหนียวจากไทย
นายอำนวย กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากกระบวนการผลิตและการค้าข้าวเหนียวของไทย ยังประสบปัญหาทั้งด้านประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาองค์ความรู้ของชาวนา การสร้างมูลค่าเพิ่มและการตลาด ซึ่งราคาข้าวเปลือกในแต่ละปีมีความผันผวนมาก ส่งผลให้ชาวนาส่วนใหญ่ที่เป็นชาวนารายย่อยจากการปลูกข้าวไม่เพียงพอกับการดำรงชีพ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว ได้ส่งเสริมการผลิตในลักษณะให้มีการปรับลดต้นทุนการผลิต โดยไม่ใช้สารเคมี ด้วยวิถีกสิกรรมธรรมชาติตามศาสตร์พระราชา ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ชีวิตที่พอเพียง ตามบันได 9 ขั้น เพื่อความมั่งคั่งและยั่งยืนของชาวนาธรรมชาติ ให้เกษตรกรเป็น Smart Farmer ข้าวเหนียว โดยในช่วงฤดูนาปี 2558/59 จะเปิดเวทีรับสมัครชาวนาหัวไวใจสู้ ในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ 1) อำเภอสันป่าตอง และอำเภอหางดง จังหวัดเชียงราย 2) อำเภอเวียงป่าเป้า และอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงใหม่ 3) อำเภอบ้านผือ และอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี 4) อำเภอบ้านไผ่ และอำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น อำเภอละ 40 คน เพื่อดำเนินการจัดอบรมชาวนาธรรมชาติ ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี พร้อมทั้งให้มีการทำนาธรรมชาติ โดยจะมีการตรวจเยี่ยมแปลงนา 3 ครั้ง หลังจากนั้นจะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิต และสรุปประเมินผลต่อไป
ส่วนการส่งเสริมในช่วงฤดูนาปรัง 2558/59 จะดำเนินการในพื้นที่ 15 จังหวัด ที่มีพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวนาปรัง 10,000 ไร่ขึ้นไป ได้แก่ จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ อุดรธานี หนองคาย สกลนคร นครพนม ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น และชัยภูมิ และฤดูนาปี 2559/60 – 2560/61 และนาปรังทุกจังหวัดที่ปลูกข้าวเหนียว จะดำเนินการไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวทั้งหมด
“การส่งเสริมการปรับเปลี่ยนจากการทำนาข้าวเหนียวที่ใช้สารเคมี เป็นการทำนาธรรมชาติ นอกจากเกษตรกรจะได้รับการพัฒนาเป็น Smart Farmer ด้านข้าวเหนียวแล้ว ยังสามารถผลิตข้าวเหนียวที่มีคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิต ขายได้คุ้มทุน ราคาไม่ผันผวน ส่งออกได้ราคาดี อีกทั้งจะมีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข้าวเหนียวไทย และการเชื่อมโยงระบบตลาดให้สนับสนุนข้าวเหนียวของเกษตรกร ทำให้ชาวนาผู้ปลูกข้าวเหนียวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถพึ่งตนเองได้ และ พัฒนาข้าวเหนียวเข้าสู่เวทีแข่งขันในตลาดโลกต่อไป” นายอำนวย กล่าว