กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้(องค์การมหาชน) หรือ OKMD ดันผู้ประกอบการOTOP ส่งออกผ้าผืนไทยเจาะตลาดอเมริกาและยุโรป ตลาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูงที่สุดในโลก ด้วยระบบอีคอมเมิร์ซ หลังผู้ประกอบการชาวสิงคโปร์สามารถสร้างมาร์จิน จากการส่งขายผ้าผืนไทยได้กว่าเท่าตัวจากราคาซื้อ เชื่อหากผู้ประกอบการไทยได้รับการส่งเสริมเพิ่มพูนศักยภาพการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง จะสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดการค้าส่งผ้าผืนจากประเทศสิงคโปร์ เป็นผู้ส่งออกไปยังตลาดเป้าหมายได้ด้วยตนเอง พร้อมแนะกลยุทธ์การพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ผ้า เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะการผลิตตามเทรนด์แฟชั่นโลกและสีสันตามฤดูกาล การตั้งราคาสินค้าให้เหมาะสมสอดคล้องกับคุณภาพสินค้า เพื่อป้องกันปัญหาการตัดราคาซึ่งนำไปสู่การขาดทุนในอนาคต
ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้เชี่ยวชาญแนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ OTOP ของตลาดในประเทศและต่างประเทศOKMD และผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยี สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสิงคโปร์ถือเป็นหนึ่งในประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์ผ้า เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ โดยจากข้อมูลการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยของสถาบันฯ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2558 พบว่า มีมูลค่ารวมกันทุกขนาดอุตสาหกรรมอยู่ที่ 13.56 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 450 ล้านบาท โดยสินค้าและผลิตภัณฑ์ผ้าและสิ่งทอที่ส่งไปขายยังตลาดสิงคโปร์นั้น แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มตลาดเป้าหมาย กลุ่มแรกคือตลาดสำหรับซื้อใช้เองภายในประเทศ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 30 โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ ผ้าผันคอ กระเป๋าผ้า ของที่ระลึกจากผ้า และเครื่องประดับ ซึ่งแม้จะเป็นสัดส่วนที่ไม่มากนักหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน แต่เนื่องจากผู้บริโภคในตลาดสิงคโปร์มีกำลังซื้อสูงมาก อีกทั้งยังเชื่อมั่นในคุณภาพและชื่นชอบสีสันของสินค้าไทย เพราะตรงกับไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิต ดังนั้นหากผู้ประกอบการไทยกลุ่ม OTOP และ SMEs ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดในประเทศ สามารถพัฒนาสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาด ในภาพรวมจะสามารถเพิ่มสัดส่วนการส่งออกได้มากขึ้นและ กลุ่มที่สองคือตลาดค้าส่งผ้าผืนสำหรับนำไปตัดเย็บ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 70 โดยส่งไปขายยังตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นหลัก โดยแนวโน้มการเติบโตในอนาคตเป็นไปในทิศทางที่ค่อนข้างสดใส เนื่องจากผ้าผืนจากไทยที่ผู้ประกอบการสิงคโปร์นำไปขายต่อนั้น มีคุณภาพและเอกลักษณ์ความสวยงามเฉพาะตัวเป็นที่ชื่นชอบของชาวตะวันตก ทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบการชาวสิงคโปร์สามารถสร้างมาร์จิน จากการส่งขายได้กว่าเท่าตัวจากราคาซื้อ
สำหรับเหตุผลหลักที่ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรป เลือกซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์ผ้าไทยจากประเทศสิงคโปร์ เนื่องจากมีระบบอีคอมเมิร์ซที่ก้าวหน้าและสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี ตรงนี้จึงถือเป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญที่หากผู้ประกอบการไทย สามารถพัฒนาระบบการดำเนินธุรกิจได้อย่างประเทศสิงคโปร์จะทำให้มูลค่าตลาดสินค้าและผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นซึ่งกระบวนการเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เร่งพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประกอบการอย่างจริงจัง โดยการนำเอาระบบอีคอมเมิร์ซและฝึกฝนทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ เข้ามาเป็นหลักสูตรฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหาหลักของผู้ประกอบการไทยในขณะนี้ คือไม่สามารถนำเอาสินค้าที่ผลิตไปขายยังต่างประเทศได้ด้วยตนเอง ตามข้อกำกัดที่ได้กล่าวไปในข้างต้น
ดร.ชาญชัย กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องคำนึงถึงเป็นสิ่งแรกก่อนการผลิตสินค้า คือ เทรนด์แฟชั่นโลก โดยเฉพาะเทรนด์สีในแต่ละปีและสีสันตามฤดูกาล โดยต้องยึดตามฤดูกาลของประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นหลัก เช่น หากล็อตการผลิตสินค้าตรงกับฤดูฤดูหนาวก็ต้องเน้นสีคลุมโทน แต่หากตรงกับฤดูร้อนก็ต้องเน้นสีสดใส ซึ่งจุดนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยกระตุ้นยอดขายได้มากขึ้น แต่ในความเป็นจริงผู้ประกอบการไทยยังขาดความเข้าใจในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่มักผลิตตามความชื่นชอบของตนเองเป็นหลัก ทำให้หลายครั้งสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ผลิตออกมาวางจำหน่ายขายไม่ออก เนื่องจากผู้บริโภคไม่สามารถนำไปใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน ไม่เพียงเท่านั้นในแง่ของการตั้งราคาก็ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ ที่ต้องปรับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับคุณภาพของสินค้าด้วยเช่นเดียวกันเพราะหากตั้งราคาสูงหรือต่ำเกินไปในที่สุดจะก่อให้เกิดปัญหาการตัดราคา ซึ่งในระยะยาวจะทำให้ผู้ประกอบการประสบปัญหาขาดทุน