กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๒๒ พ.ค. ๕๘) เวลา ๐๙.๓๐ น. พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการด้านสตรีในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๘ ณ ห้องประชุมชั้น ๘ อาคารใหม่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ
พลตำรวจเอก อดุลย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้มีการพิจารณาแผนปฏิบัติการและมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก โดยเพิ่มประสิทธิภาพในการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในทุกกรณี ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกำหนดจะจัดอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน จำนวน ๓ รุ่น และมีการเพิ่มจำนวนพนักงานสอบสวนหญิงในพื้นที่จังหวัดเสี่ยง อย่างน้อย ๒๐ จังหวัด ๆ ละ ๕ คน ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการเพิ่มล่ามภาษาเป็นจำนวน ๑๒๐ คน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนล่ามเก่าที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วกับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จำนวนทั้งสิ้น ๘๘ คน และการเพิ่มในภาษาที่ขาดแคลน เช่น ภาษาของชาวโรฮิงญาบังคลาเทศ และอุสเบกิสถาน เป็นต้น ในพื้นที่จังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการค้ามนุษย์
ทั้งนี้ได้ประสานงานกับ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อหารือในการจัดทำหลักสูตรอบรมล่ามภาษาโรฮิงญา ซึ่งมีแผนดำเนินการ ดังนี้
๑) คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จะดำเนินการประกาศประชาสัมพันธ์รับสมัครผู้ที่สามารถพูดภาษาโรฮิงญาเข้ารับการอบรมหลักสูตรล่าม ภายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘ และจะจัดอบรมในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๘ จำนวน ๓๐ คน
๒) คัดเลือกผู้สมัครที่มีความรู้ ความสามารถเป็นล่ามได้ จัดอบรมภาษาโรฮิงญาให้กับข้าราชการเจ้าหน้าที่ของสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพทั้ง ๔ แห่ง ที่เป็นผู้ปฏิบัติงานกับชาวโรฮิงญา รุ่นละ ๓๐ คน
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก ให้ฝ่ายลาวพิจารณาเพื่อเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทวิภาคีไทย - ลาวเพื่อทบทวนและแก้ไขเพิ่มเติมบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก ประกอบด้วย
๑)มาตรการป้องกัน
๒)การคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
๓)ความร่วมมือในการปราบปรามการค้ามนุษย์
๔)การส่งกลับและรับกลับ และ
๕)การคืนสู่สังคม
“สำหรับข้อมูลสถิติผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่เป็นสตรีและเด็ก ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๕๘ ถึงวันที่๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘ มีจำนวนทั้งสิ้น ๑๑๘ คน แบ่งเป็น
๑)การบังคับค้าประเวณี จำนวน ๗๕ คน
๒)บังคับใช้แรงงาน จำนวน ๔๐ คน และ
๓)บังคับขอทาน จำนวน ๓ คน” พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย