กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนเมษายน 2558จำนวน 1,202 ราย ครอบคลุม 43 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 31.8, 38.4 และ 29.8ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 38.9, 16.4, 14.8, 11.6 และ 18.3 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 81.8 และ 18.2 ตามลำดับ โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2558 อยู่ที่ระดับ 86.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.7 ในเดือนมีนาคม ทั้งนี้ค่าดัชนีฯที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ในเดือนเมษายน 2558 ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 ปัจจัยลบที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและปัญหาภัยแล้ง ส่งผลต่อการบริโภคและการใช้จ่ายโดยในเฉพาะภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายภายในประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสภาพคล่องของการดำเนินกิจการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมกลางและขนาดย่อม ประกอบกับในเดือนเมษายนมีวันหยุดต่อเนื่องจากช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นอุปสรรคต่อการจัดส่งสินค้าและระบบโลจิสติกส์
อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าการขยายการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นโอกาสดี สำหรับผู้ประกอบการไทยในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และเป็นโอกาสในการวางรากฐานธุรกิจในอนาคต
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.1 เพิ่มขึ้นจาก 100.4 ในเดือนมีนาคม โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนเมษายน 2558 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีฯของอุตสาหกรรมทุกขนาด ทั้งอุตสาหกรรมขนาดย่อม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ลดลงจากในเดือนมีนาคม
โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2558 อยู่ที่ระดับ 79.4 ลดลงจากระดับ 81.7 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร, อุตสาหกรรมสมุนไพร,อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.0 เพิ่มขึ้นจาก 98.1ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง จากผลการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2558 อยู่ที่ระดับ 84.2 ลดลงเล็กน้อยจาก 85.5 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการสำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์,อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์,อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.4 เพิ่มขึ้นจาก 99.2 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่ามีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2558 อยู่ที่ระดับ 96.0 ลดลงจากระดับ 97.0 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล,อุตสาหกรรมเคมี ,อุตสาหกรรมต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ อยู่ที่ระดับ 105.4เพิ่มขึ้นจากระดับ 104.1 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนเมษายน 2558 จากการสำรวจพบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯของทุกภูมิภาค ปรับตัวลดลงจากเดือนมีนาคม
ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2558 อยู่ที่ระดับ 89.5 ลดลงจากระดับ 91.7 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลงในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ครีมต่างๆ มียอดขายในประเทศลดลง ประกอบกับมีการแข่งขันสูงด้านราคา,สินค้าประเภท แป้งรองพื้นและลิปสติค มียอดการส่งออกไปประเทศอเมริกา,เอเชียลดลง) , อุตสาหกรรมรองเท้า (สินค้าประเภทรองเท้าแฟชั่น รองเท้ากีฬา มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากสต็อกสินค้ามีปริมาณสูงประกอบกับการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคลดลง),อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์(ยอดขายปูนซีเมนต์ในประเทศลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ลดลง และเป็นช่วงเทศกาลและวันหยุดยาว) และอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (ยอดส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV เพิ่มขึ้น เนื่องจากสินค้าที่ผลิตจากประเทศไทยได้รับความนิยมจากประเทศเพื่อนบ้าน, สินค้าประเภท Monolithic IC และ Semiconductor มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ในอุปกรณ์สื่อสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 99.5 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2558 อยู่ที่ระดับ 79.8 ลดลงจากระดับ 81.4 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (สินค้าประเภทอิฐมอญ แปรรูปหินแกรนิต หินอ่อน มียอดขายในประเทศลดลง ,กระเบื้องปูพื้นแกรนิตมียอดคำสั่งซื้อลดลง จากประเทศเวียดนามและมาเลเซีย), อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (สินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ไม้ และเฟอร์นิเจอร์หนัง มียอดขายและยอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง ประกอบกับราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้น) , อุตสาหกรรมสมุนไพร (สินค้าแปรรูปสมุนไพร มียอดขายในประเทศลดลง ประกอบกับสภาพอากาศร้อนทำให้ผลผลิตลดลง, ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสมุนไพรไทยมีคำสั่งซื้อจากตลาดยุโรปและญี่ปุ่นลดลง) และอุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก (สินค้าประเภทสุขภัณฑ์เซรามิก มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น , สินค้าประเภทภาชนะเซรามิกบนโต๊ะอาหาร มียอดคำสั่งซื้อจากประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและไต้หวัน เพิ่มขึ้น) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 95.8 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2558 อยู่ที่ระดับ 82.5 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 82.7 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูปมีการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ลดลง, ผลิตภัณฑ์ประเภทเสื้อผ้าเด็ก เสื้อไหมพรม มียอดขายในประเทศลดลง)อุตสาหกรรมน้ำตาล (ผลผลิตอ้อยลดลง เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้ขาดแคลนวัตถุดิบ, ขณะที่ยอดขายน้ำตาลทรายในประเทศลดลง) , อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (มียอดคำสั่งซื้อเครื่องมือการเกษตรลดลง ผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำประกอบกับภัยแล้ง ทำให้กำลังซื้อในภาคเกษตรลดลง ด้านผู้ประกอบการมีการชะลอการสั่งซื้อเนื่องจากมีสินค้าในสต๊อกปริมาณสูง) และอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ (เนื่องจากยอดการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์สำหรับการเรียนการสอนในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากใกล้เปิดภาคเรียน, สิ่งพิมพ์ประเภทโบรชัวร์ แคตตาล็อก วารสาร มียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.2 ลดลงจากระดับ 99.7 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ภาคตะวันออก มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2558 อยู่ที่ 95.8 ลดลงจากระดับ 99.6 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมี (สารเคมีโทลูอีนและไซลีนซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิตสี ทินเนอร์ และเส้นใย มียอดขายในประเทศลดลง, ยอดคำสั่งซื้อปุ๋ยเคมี ลดลงจากประเทศลาว พม่า และกัมพูชา ) อุตสาหกรรมเครื่องประดับ (ยอดขายเครื่องประดับ ทอง เพชร พลอย ในประเทศลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย,คำสั่งซื้อต่างประเทศลดลง จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เบลเยียม อินเดีย และญี่ปุ่น โดยเฉพาะปัญหาศุลกากรอินเดียไม่ยอมรับหนังสือ รับรองแหล่งถิ่นกำเนิดสินค้าของผู้ส่งออกไทยภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)) ,อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ (ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องจักรกลและส่วนประกอบอุปกรณ์มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการมีการชะลอการสั่งซื้อ และมีสินค้าใน สต๊อกจำนวนมาก) และอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า (เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อน ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าตามหน่วยงาน องค์กร บ้านเรือนมีปริมาณเพิ่มขึ้น ) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.8 ลดลงจาก 108.7 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ส่วน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนเมษายน 2558 อยู่ที่ระดับ 81.7 ลดลงจากระดับ 82.1 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (ราคาปาล์มตกต่ำ เนื่องจากผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดปริมาณมาก ,น้ำมันปาล์มมียอดส่งออกลดลง เนื่องจากตลาดหลัก เช่น เอเชียใต้ จีน และอาเซียนมีการชะลอการสั่งซื้อ) อุตสาหกรรมโรงเลื่อย โรงอบไม้ (ยอดสั่งซื้อไม้แปรรูปจากโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ในประเทศลดลง, ขณะที่ประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีน ชะลอคำสั่งซื้อไม้ยางพาราแปรรูป) , อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (สินค้าประเภทปุ๋ยชีวภาพและยากำจัดศัตรูพืชชีวภาพและสัตว์ มียอดขายในประเทศลดลง) และอุตสาหกรรมในภาคใต้ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (ผลิตภัณฑ์ยางประเภทยางแผ่นรมควัน มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ,การส่งออกผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจปรับตัวเพิ่มขึ้น ในตลาดอาเซียน ประกอบกับราคายางมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากการที่หน่วยงานภาครัฐได้เข้ามารับซื้อยางพารา) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.7 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ในเดือนเมษายน ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศปรับตัวลดลงจากในเดือนมีนาคม
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน อยู่ที่ระดับ 84.2 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจาก 84.8 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง,อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน ,อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 99.6 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน อยู่ที่ 95.5 ลดลงจากระดับ 98.1 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ, อุตสาหกรรมสิ่งทอ,อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.8เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 103.2 ในเดือนมีนาคมองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2558 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนเมษายนนี้ คือเร่งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เพื่อเพิ่มกำลังซื้อและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ อีกทั้งเสนอให้ภาครัฐปรับโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เพื่อจูงใจให้เข้าสู่ระบบภาษี พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อสร้างโอกาสในการขยายตลาดการค้าและการลงทุนของผู้ประกอบการไทย และสนับสนุนการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าไทย และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน