กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลระดับนานาชาติอีก คราวนี้จากเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ITEX’15 ที่มาเลเซีย โดยได้รับ 2 เหรียญทองจากผลงาน “เป้ยังชีพ” ช่วยผู้ประสบภัย และ “เบาะนอนปรับพลิกตะแคงตัว” ป้องกันแผลกดทับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ 1 เหรียญเงินจาก “หวดประหยัดพลังงาน” ลดเวลาการนึ่งข้าวเหนียวจากเดิม 30 นาทีเหลือเพียง 15 นาที และ 1 เหรียญทองแดงจาก “แผ่นสเกลปรับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ” พร้อมรางวัลพิเศษอีก 5 รางวัล รวมทั้งหมด 9 รางวัล
ศาสตราจารย์ ดร.ประมวญ เทพชัยศรี รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์ของนักวิจัยธรรมศาสตร์ร่วมงานประกวดและจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ ITEX'15 : 26th INTERNATIONAL INVENTION & TECHNOLOGY EXHIBITION 2015 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 21-23 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งมีนักวิจัยและนักประดิษฐ์จาก 21 ประเทศมาร่วมแสดงผลงานกว่า 1,000 ชิ้น ปรากฎว่า ผลงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่นำไปจัดแสดงและประกวดได้รางวัลรวม 9 รางวัล คือ 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง และรางวัลพิเศษ 5 รางวัล ดังนี้
1. ผลงาน “เป้ยังชีพ” โดย อาจารย์นภมณี ทรัพย์สุนทรกุล ผศ.ศรา สุขียศ และ อาจารย์เพชร จิตต์สุวรรณ และนักศึกษา ปี 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธ. ได้รับเหรียญทอง และรางวัลพิเศษจากประเทศไต้หวัน กระเป๋าเป้ยังชีพถูกออกแบบเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยหรือเหตุการณ์ฉุกเฉิน อาทิ น้ำท่วมเฉียบพลันและจำเป็นต้องหนีเอาชีวิตรอด โดยกระเป๋าเป้จะมีช่องให้ใส่สิ่งของในการดำรงชีพเบื้องต้น เช่น มีดพก ไฟฉาย ไม้ขีด ยากันยุง เสื้อผ้าแปลงสีฟัน ขวดน้ำ อาหารกระป๋อง เป็นต้น ซึ่งผู้ประสบภัยสามารถพกพาได้โดยสะดวก นอกจากนั้น กระเป๋าเป้ยังสามารถปรับเปลี่ยนเป็นเปลนอนหรือที่นั่งชิงช้าโดยการผูกกับเสาหรือต้นไม้ได้อีกด้วย
2. ผลงาน “เบาะนอนปรับพลิกตะแคงตัว” โดย ผศ.จิณพิชญ์ชา มะมม คณะพยาบาลศาสตร์ มธ. ได้รับเหรียญทองและรางวัลพิเศษจากประเทศไต้หวัน เบาะนอนปรับพลิกตะแคงตัวออกแบบสำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยในโรงพยาบาลโดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว และมีความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับสูง ซึ่งกิจกรรมที่ชวยป้องกันและจัดการกับแผลกดทับได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การพลิกตะแคงตัวที่ถูกต้องแต่จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและต้องใช้อุปกรณ์อื่นช่วย เบาะนอนปรับพลิกตะแคงตัวจะช่วยในการพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยอย่างถูกต้อง ลดภาระงานของผู้ดูแล ญาติ และพยาบาล ส่งผลให้คุณภาพการดูแลผู้ป่วยดีขึ้น
3. ผลงาน “หวดประหยัดพลังงาน”(ภาชนะนึ่งข้าวเหนียว) จากโครงการ Move World Together โดย ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา ผู้อำนวยการโครงการ และคณะ ได้รับเหรียญเงิน และรางวัลพิเศษจากประเทศอินโดนีเซียและประเทศซาอุดิอาระเบีย หวดประหยัดพลังงาน เป็นการออกแบบและพัฒนาจากหวดนึ่งข้าวเหนียวแบบดั้งเดิมของท้องถิ่นให้ใช้สะดวกและประหยัดพลังงานมากยิ่งขึ้น โดยออกแบบท่อให้อยู่ตรงกลางของหวดเพื่อให้เกิดการกระจายตัวของไอน้ำและความร้อน ทำให้ลดเวลาการนึ่งข้าวเหนียวจากเดิม 30 นาทีเหลือเพียง 15 นาที และลดขั้นตอนของการพลิกกลับข้าวเหนียวแบบดั้งเดิม เนื่องจากหวดประหยัดพลังงานสามารถทำให้ข้าวเหนียวสุก นุ่ม ฟู อย่างทั่วถึงกันโดยไม่จำเป็นต้องมีการพลิกกลับข้าว
4. ผลงาน “แผ่นสเกลปรับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ” โดย ผศ.ชิดกมล สังข์ทอง ผศ.จิณพิชญ์ชา มะมม และนักศึกษาปี 3 คณะพยาบาลศาสตร์ มธ. ได้รับเหรียญทองแดง และ รางวัลพิเศษจากประเทศฮ่องกง แผ่นสเกลปรับสารน้ำทางหลอดเลือดดำได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกในการดูแลผู้ป่วยที่ต้องมีการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยการสร้างเครื่องมือในลักษณะแผ่นตารางการปรับจำนวนหยดของสารน้ำทางหลอดเลือดดำเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พยาบาลในการปรับอัตราความเร็วของสารน้ำที่เข้าสู่ร่างกายให้ถูกต้องตามแผนการรักษา ป้องกันปัญหาความคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการปรับอัตราความเร็วและปริมาณสารน้ำเข้าร่างกายผู้ป่วย และป้องกันการเกิดภาวะน้ำเกินในร่างกาย