กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--กรมการขนส่งทางบก
กรมการขนส่งทางบก เผย!!! ข้อมูลจากแอพลิเคชั่น DLT Check in ชี้ชัดบริเวณที่พบแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารสูงสุดอยู่ย่านสุขุมวิท สีลม สาทร พญาไท โดยเฉพาะช่วงเวลา 17.00 - 22.00 น. เร่งจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพิ่มเติม พร้อมระบุมีการพักใช้ใบอนุญาตผู้ขับรถแท็กซี่ที่ถู
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า หลังจากเปิดให้ประชาชนร่วมให้คะแนนความพึงพอใจและแสดงความคิดเห็นด้านการให้บริการด้วยแท็กซี่ ผ่านแอพพลิเคชั่น DLT Check in พบว่าผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ให้ความสนใจร่วมดาวน์โหลดแอพลิเคชั่นแล้วเกือบ 30,000 ราย ในจำนวนนี้ร่วมเช็กอินเพื่อให้คะแนนรถแท็กซี่มากถึง 11,185 ครั้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2558) ในจำนวนนี้มีผู้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาคุณภาพและยกระดับมาตรฐานรถแท็กซี่ไทยจำนวน 4,518 ครั้ง รวมถึงมีการชมเชยผู้ขับรถและสภาพรถที่ดีมีคุณภาพจำนวน 818 ครั้ง และร้องเรียนปัญหาจากให้บริการอีกจำนวน 1,832 ครั้ง ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการติดตามตัวผู้ขับรถแท็กซี่หรือเจ้าของรถแท็กซี่ที่ถูกร้องเรียนมาพิจารณาลงโทษเปรียบเทียบปรับ ลงบันทึกประวัติการกระทำความผิด และจัดให้มีระบบติดตามตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำขึ้น หากตรวจสอบพบว่าเป็นการกระทำความผิดซ้ำซากจะดำเนินการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที ซึ่งที่ผ่านมาได้พักใช้ใบอนุญาตผู้ขับรถแท็กซี่ที่ถูกร้องเรียนผ่านแอพลิเคชั่นและมีประวัติการกระทำความผิดซ้ำซากแล้วจำนวน 11 ราย สำหรับปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนสูงสุดยังคงเป็นปัญหาการปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร โดยมีการร้องเรียนเป็นจำนวนมากในช่วงเวลา 17.00 – 22.00 น. และบริเวณที่พบปัญหาสูงสุดคือ ถนนสุขุมวิท สีลม สาทร พญาไท กรมการขนส่งทางบกจึงได้เพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่อำนวยความสะดวกและกวดขันพฤติกรรมการให้บริการในช่วงเวลาและสถานที่ดังกล่าวเป็นการเฉพาะเพิ่มเติม ซึ่งทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้นนั่นเอง ส่วนการร้องเรียนเกี่ยวกับสภาพภายในและภายนอกตัวรถแท็กซี่นั้น กรมการขนส่งทางบกได้ส่งเรื่องให้สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 ดำเนินการตรวจสอบสภาพรถเป็นการเร่งด่วนต่อไป นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจรถแท็กซี่ส่วนบุคคลเขียวเหลืองมากกว่าแท็กซี่สหกรณ์หรือบริษัท และรถแท็กซี่ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 6 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มได้รับคะแนนความพึงพอใจต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งในด้านสภาพรถและความสะอาด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญในการพิจารณากำหนดอายุการใช้งานของรถแท็กซี่ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป
นายจิรุตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จะเห็นได้ว่า DLT Check in เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการให้บริการด้วยรถแท็กซี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการและผู้ขับรถแท็กซี่ตระหนักถึงความสำคัญและมุ่งมั่นในการพัฒนาหรือรักษามาตรฐานการให้บริการที่ดีอยู่เสมอ จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันลงทะเบียนเช็กอินและประเมินการให้บริการทุกครั้งที่ใช้บริการรถแท็กซี่ ซึ่งจากผลสำเร็จในเบื้องต้นนี้ กรมการขนส่งทางบกเตรียมต่อยอดพัฒนาแอพพลิเคชั่น DLT Check in ให้สามารถรองรับการประเมินคุณภาพรถสาธารณะอื่นๆ เช่น รถตู้โดยสารสาธารณะ ซึ่งหากได้รับการตอบรับและความร่วมมือจากประชาชนดังเช่นที่ผ่านมา ก็จะทำให้ระบบขนส่งสาธารณะของประเทศไทยสามารถพัฒนาและยกระดับมาตรฐานให้เทียบเท่าสากล และเป็นที่พึงพอใจของประชาชนและผู้ใช้บริการ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวในที่สุด