กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
“มิวเซียมสยาม” ก้าวสู่ปีที่ 8 เปิดแผนการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ครั้งใหญ่ เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และความต้องการของคนรุ่นใหม่ ตั้งเป้าพัฒนาพื้นที่ให้เป็น Gateway เชื่อมต่อพื้นที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในเกาะรัตนโกสินทร์ พร้อมขยายผลการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ด้วยการพัฒนา “Museum Culture”
เนื่องในวาระโอกาสครบรอบ 7 ปี “มิวเซียมสยาม” ในเดือนเมษายน 2558 นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) หรือ NDMI ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล มิวเซียมสยาม ได้เปิดเผยถึงนโยบายและแผนการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมิวเซียมสยามครั้งใหญ่ หลังจากเปิดให้บริการมาครบ 7 ปีว่า ในปีหน้าถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของการเปลี่ยนผ่านที่มิวเซียมสยามจะเติบโตมากยิ่งขึ้น เพราะหลังจากเปิดให้บริการมาครบ 7 ปี ประชาชนหรือผู้ชมก็คงอยากจะเห็นเรื่องราวและสิ่งใหม่ๆ ที่สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้
“เราจะมีการปรับปรุงนิทรรศการหลักชุดใหญ่ที่เรียกว่าเรียงความประเทศไทย โดยจะนำเสนอนิทรรศการชุดใหม่ที่มีเรื่องราวและเนื้อหาที่ท้าทายทางความคิด ในขณะเดียวกันก็จะมีการปรับปรุงตัวของมิวเซียมสยามในส่วนของกายภาพและการบริการให้มีความสดใหม่ รวมไปถึงการใช้พื้นที่ต่างๆ ให้เกิดศักยภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ชมซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเข้ามาใช้พื้นที่ของมิวเซียมสยามในกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลาย” ผอ.ราเมศ กล่าว
โดยการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นกับ “มิวเซียมสยาม” ก็เพื่อให้สอดรับกับการเปิดให้บริการของ “รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน” ที่มีการก่อสร้าง “สถานีรถไฟฟ้าสนามไชย” ซึ่งเป็นสถานีรถไฟฟ้าเพียงสถานีเดียวบนเกาะรัตนโกสินทร์ จะทำให้พื้นที่ด้านหน้าของมิวเซียมสยามกลายเป็น Gateway ประตูของการเดินทางเที่ยวชมพื้นที่ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของเกาะรัตนโกสินทร์ อาทิ พระบรมมหาราชวัง วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) หรือแม้กระทั่งวัดอรุณราชวราราม ที่อยู่อีกฝากหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา
“ไม่แน่ว่าต่อไปเราก็อาจจะเรียกกันติดปากว่าสถานีมิวเซียมสยามก็ได้ เพราะตอนนี้เรากำลังปรับปรุงในส่วนของการเชื่อมโยงตัวสถานีเพื่อเข้าสู่ตัวของมิวเซียมสยาม รวมถึงการจัดทำนิทรรศการสะท้อนประวัติศาสตร์เชิงพื้นที่อยู่ภายในตัวของสถานีสนามไชย ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จาก รฟม. ตรงนี้ก็จะเป็นอีกมิติใหม่ในเชิงพื้นที่ เพราะว่าปัจจุบันพื้นที่รอบๆ มิวเซียมสยามได้ถูกพัฒนาให้เป็น พื้นที่เปิดใหม่ทางด้านวัฒนธรรม โดยจะสังเกตุเห็นได้ว่าตั้งแต่ท่าพระจันทร์ ท่ามหาราช มาจนถึงตลาดยอดพิมาน ได้มีการปรับปรุงพื้นที่เพื่อรองรับ Culture District ในอนาคต ซึ่งจะเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมในอนาคตที่สำคัญของประเทศ
และเรายังมีแนวคิดที่จะต่อยอดเชื่อมโยงพื้นที่ของมิวเซียมสยามออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาผ่านทางบ้านปราณี เพื่อพัฒนาให้เป็นลานกิจกรรมและลานวัฒนธรรมที่สอดรับกับโครงการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์ ที่จะทำให้มิวเซียมสยามกลายเป็น Gateway ที่สำคัญในอนาคต” ผอ.ราเมศ ระบุ
นอกจากนี้ทาง “มิวเซียมสยาม” ยังมีแนวคิดที่จะผลักดันและสร้าง Museum Culture ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยด้วยการขับเคลื่อน 2 ด้านควบคู่กันไปคือ “การพัฒนาแหล่งเรียนรู้” ยกระดับการจัดการและพัฒนาเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศให้มีความสอดคล้องกับความสนใจและความต้องการของผู้ชมเป็นสำคัญ และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ชม ในขณะเดียวกันก็ต้อง “กระตุ้นความสนใจ” ให้ผู้ชมเห็นความสำคัญของแหล่งเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ผ่านกลยุทธ์ที่หลากหลาย ทั้งกิจกรรมหรือนิทรรศการต่างๆ ที่มีเสน่ห์และรสนิยมตรงกับความสนใจ โดยใช้สื่อใหม่ๆ ที่ทันสมัยและเข้าถึงกับผู้ชมทุกเพศวัย ทั้งเยาวชน นักศึกษา รวมไปถึงกลุ่มครอบครัว
“เพื่อให้เกิดทัศนคติใหม่หรือเกิดความคุ้นชินกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ว่า พิพิธภัณฑ์นั้นเป็นสถานที่ๆ เขาสามารถมาใช้พื้นที่ได้ เป็นสถานที่ๆ สามารถมาหาความรู้และสร้างแรงบันดาลใจได้ เมื่อคุ้นชินแล้วก็จะเกิดทัศนคติใหม่ๆ ต่อการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ และทัศนคติใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ก็จะเป็นตัวเพิ่มพูนหรือขยายผลต่อไปจนเกิดเป็น Museum Culture ในอนาคต ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาทั้งตัวของพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ รวมไปถึงตัวของผู้ชมที่เพิ่มจำนวนขึ้นไปพร้อมๆ กัน” ผอ.ราเมศกล่าวสรุป