กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--มาสเตอร์โพลล์
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง 1 ปี คสช.กับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย : กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,083 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการในวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2558
ผลการสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 59.1 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 26.1 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 8.4 ระบุติดตาม 1-2 วันต่อสัปดาห์ ร้อยละ 5.4 ระบุน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 1.0 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศที่กำลังดำเนินการอยู่ พบว่าในประเด็นของการควบคุมราคาล็อตเตอรี่ ใบละ 80 บาทนั้น แกนนำชุมชนร้อยละ 52.9 ระบุเชื่อมั่นว่าจะสำเร็จ ในขณะที่ร้อยละ 30.1 ระบุกังวลว่าจะไม่สำเร็จ และร้อยละ 17.0 ระบุไม่แน่ใจ/ไม่มีความเห็น สำหรับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 63.5 ระบุเชื่อมั่นว่าจะสำเร็จ ในขณะที่ร้อยละ 22.5 ระบุกังวลว่าจะไม่สำเร็จ และร้อยละ 14.0 ระบุไม่แน่ใจ/ไม่มีความเห็น การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 72.2 ระบุเชื่อมั่นว่าจะสำเร็จ ในขณะที่ร้อยละ 19.7 ระบุกังวลว่าจะไม่สำเร็จ และร้อยละ 8.1 ระบุไม่แน่ใจ/ไม่มีความเห็น การแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 29.7 ระบุเชื่อมั่นว่าจะสำเร็จ ในขณะที่ร้อยละ 50.6 ระบุกังวลว่าจะไม่สำเร็จ และร้อยละ 19.7 ระบุไม่แน่ใจ/ไม่มีความเห็น และในประเด็นของการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรไทย นั้นพบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 48.8 ระบุเชื่อมั่นว่าจะสำเร็จ ในขณะที่ร้อยละ 35.9 ระบุกังวลว่าจะไม่สำเร็จ และร้อยละ 15.3 ระบุไม่แน่ใจ/ไม่มีความเห็น
ประเด็นสำคัญ คือคณะผู้วิจัยได้สอบถามแกนนำชุมชนถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก่อนและหลังการมี คสช.ในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับบรรยากาศทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ พบว่าประเด็นที่แกนนำชุมชนเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะ “เพิ่มขึ้น” ได้แก่ ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มั่นคง คนไทยใช้ชีวิตอย่างมีความสุข (เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.6) ข้าราชการ/เจ้าหน้าที่รัฐทำงานในการให้บริการประชาชนอย่างโปร่งใส (เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.4) ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.9) ประชาชนยอมรับในกระบวนการยุติธรรม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.1) ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการของรัฐอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.2) คนไทยมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ยึดมั่นในความจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.0) ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี (เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.5) และประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่ดี ได้รับความเชื่อมั่นและยอมรับจากนานาชาติ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2) สำหรับประเด็นที่แกนนำชุมชนเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะ “ลดลง”ได้แก่ ความขัดแย้งทางการเมืองในกลุ่มประชาชน (ลดลงร้อยละ 63.5) การทุจริตคอรัปชั่นในสังคมไทย (ลดลงร้อยละ 61.5) การแพร่ระบาดของปัญหายาเสพติดที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน (ลดลงร้อยละ 45.6) ความรุนแรงของสถานการณ์ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ (ลดลงร้อยละ 39.2) และการแสดงออกทางการเมืองอย่างเต็มที่ของประชาชน (ลดลงร้อยละ 9.0)
ทั้งนี้เมื่อสอบถามต่อไปถึงความสุขต่อการมี คสช. ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 0.3 ระบุไม่มีความสุขเลย ร้อยละ 0.6 ระบุค่อนข้างน้อย-น้อย ร้อยละ 15.3 ระบุปานกลาง ร้อยละ 55.2 ระบุ ค่อนข้างมาก-มาก ในขณะที่ร้อยละ 28.6 ระบุมีความสุขมากที่สุด ทั้งนี้คะแนนเฉลี่ยความสุขของแกนนำชุมชนจากการมี คสช.ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาเท่ากับ 8.10 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ประเด็นสำคัญสุดท้าย คือเมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงความไว้วางต่อ คสช. ในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ และประชาชนนั้น ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนเกือบร้อยละร้อย คือร้อยละ 97.1 ระบุยังคงไว้วางใจ คสช. ในขณะที่ร้อยละ 2.9 ระบุไม่ไว้ใจแล้ว โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพราะ คสช.มีอำนาจเบ็ดเสร็จมากเกินไป/กดดันประชาชนมากเกินไป/กฎระเบียบมากเกินไป ไม่เป็นประชาธิปไตย/ต้องระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็น/อำนาจอยู่ที่คน คนเดียว /กลัวว่าทหารจะเหลิงอำนาจ เป็นต้น
คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
แกนนำชุมชนร้อยละ 88.1 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 11.9 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 5.7 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 34.3 ระบุอายุ 40-49 ปี และร้อยละ 60.0 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 30.8 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 47.4 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 5.3 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. ร้อยละ 16.5 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ และเมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัวพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 16.5 ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 29.5 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,000 – 15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 18.8 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่แกนนำชุมชนร้อยละ 35.2 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ