กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--มทร.ธัญบุรี
อาจารย์ มทร.ธัญบุรี รังสรรค์ผลงานประติมากรรมนูนสูง 3 มิติ แสดงเนื้อหาศิลปะแบบรูปธรรม ถ่ายทอดเรื่องราวองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลักธรรมคำสั่งสอน จำนวน 11 แผ่นใหญ่ ส่งมอบวัดปัญญานันทาราม จ.ปทุมธานี เพื่อประดับภายในพระอุโบสถ เผยใช้เวลานานถึง 4 ปี ในการถ่ายทอดความงามที่แฝงไปด้วยปริศนาธรรม
รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เปิดเผยว่า ทางวัดปัญญานันทารามและมหาวิทยาลัย มีความร่วมมือในการนำนักศึกษาเข้าค่ายอบรมคุณธรรม จริยธรรมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ ซึ่งทางวัดได้สร้างพระอุโบสถ เพื่อเป็นสถานที่ในการเรียนรู้ สั่งสอนคุณธรรมจริยธรรม แต่ทางวัดยังขาดผลงานศิลปะเพื่อมาตกแต่งภายในพระอุโบสถ โดยทางคณะศิลปกรรมศาสตร์มีความพร้อมด้านบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง จึงมอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยพจน์ หวลมานพ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวัฒนธรรม อาจารย์ภาควิชาทัศนศิลป์ สาขาประติมากรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยนักศึกษาสาขาวิชาประติมากรรมและสาขาวิชาจิตรกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ รับผิดชอบงานประติมากรรมตกแต่งภายในพระอุโบสถ ภายใต้แนวความคิด 3 ป. ของพระปัญญานันทมุนี คือ ประโยชน์ ประหยัด และเป็นปริศนาธรรม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยพจน์ ผู้สร้างสรรค์ผลงาน กล่าวว่า ชุดผลงานประติมากรรมนูนสูง 3 มิติทั้ง 11 แผ่น มีขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตร แสดงเนื้อหาศิลปะแบบรูปธรรม ถ่ายทอดเรื่องราวองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามหลักธรรมคำสั่งสอน 11 เรื่องราว ได้แก่ 1.พระพุทธเจ้า (การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน) 2.พระธรรม (ธรรมคุณ มรรคมีองค์ 8 ธรรมจักร โย ธัมมัง ปัสสติ...) 3.พระสงฆ์ (สังฆคุณ ธรรม วินัย) 4. พุทธกิจ พุทธจริยา (กิจของสงฆ์) 5. ปฎิจจสมุปปบาท (การเวียนว่ายตายเกิด) 6. กาลามสูตร 10 7. นรก สวรรค์ นิพพาน ทางอายตะ 8. ทิศ6 9.ความรัก ชนะมาร 10.พุทธบริษัท 4 และ 11. ที่พึ่งอันเกษม โดยมีพระปัญญานันทมุนี และพระมหาเฉลิม?ปิยะทัสสี เจ้าอาวาสวัดปัญญานันทาราม แสดงทัศนะและเป็นที่ปรึกษาหลักในการจัดสร้าง ซึ่งมีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ประติมากรรมจากอิทธิพลทางศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ อันเป็นศิลปะที่มีความละเอียดอ่อนสวยงาม มีความเรียบง่าย ไม่เกินลักษณะแห่งความงามที่ผิดไปจากธรรมชาติ ประกอบกับสถาปัตยกรรมภายในพระอุโบสถของวัดมีรูปแบบลวดลายตกแต่งแบบศิลปะอินเดียโบราณ จึงทำให้การรังสรรค์ประติมากรรมมีความกลมกลืนกับสถานที่และก่อให้เกิดสุนทรียภาพแห่งความงาม โดยทั้ง 11 ชิ้นงานนี้ สามารถเป็นสื่อในการสอนธรรมะ ในเชิงบอกเล่าเรื่องราวและเชิงสัญลักษณ์ในการสื่อความหมาย เพื่อสะท้อนถึงดุลยภาพแห่งการใช้ชีวิตในธรรมชาติ โดยใช้รูปบุคคลและสัญลักษณ์ที่สามารถแสดงอารมณ์ ท่าทาง และเรื่องราวที่แสดงถึงเหตุการณ์ พร้อมทั้งหลักธรรม ล้วนก่อให้เกิดอารมณ์และปัญญาผ่านการถ่ายทอดทางทัศนธาตุ ทั้งรูปทรง เส้นสาย พื้นที่ว่าง พื้นผิวและสี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยพจน์ กล่าวอีกว่า ผลงานประติมากรรมนูนสูง 3 มิตินี้ใช้เทคนิคและวิธีการปั้นหล่อไฟเบอร์กลาส ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนหรือคล้ายกับดิน มีความทนทานอยู่ได้เป็นหลายร้อยปีและสะดวกในการติดตั้ง แต่ละชิ้นงานมีน้ำหนักประมาณ 70 กิโลกรัมและใช้สมาธิสูงในการสร้างสรรค์ โดยเริ่มจากการร่างแบบทั้ง 11 แบบ การสร้างฐานต้นแบบโดยสร้างเหล็กเป็นฐานแท่นปั้น การเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในงานประติมากรรม เตรียมดินเหนียวสำหรับงานปั้น เตรียมส่วนยึดเกาะดินและการขึ้นรูปประติมากรรมต้นแบบ หลังจากนั้นร่างภาพลงพื้นดินที่เตรียมไว้ ขึ้นรูปปั้นต้นแบบ แล้วเก็บงานปั้นต้นแบบ จากนั้นทำแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ แล้วหล่อไฟเบอร์กลาสจากแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ และ ประกอบชิ้นงานส่วนไฟเบอร์กลาส จนถึงขึ้นตอนสุดท้ายคือตกแต่งและทำสีชิ้นงาน
“ในการสร้างสรรค์ผลงานยิ่งใหญ่ครั้งนี้ ต้องอาศัยความอดทน ความเพียรพยายามเป็นอย่างมากใช้เวลานานถึง 4 ปี จัดว่าเป็นผลงานที่ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นบ่อยนัก เพราะเป็นประติมากรรมนูนสูง 3 มิติประดับภายในพระอุโบสถ และมีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นระหว่างการจัดสร้าง เช่น น้ำท่วม แต่ก็ไม่ลดละในความพยายาม และยึดอิทธิบาทสี่เป็นเครื่องประคับประคองจิตใจ มีความศรัทธาต่อตัวเองและสิ่งที่ทำ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลงานนี้จะสร้างจิตสำนึกในการสืบสาน อนุรักษ์และทำนุบำรุงศาสนา ศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับเรื่องราวพระพุทธศาสนาต่อไป เป็นสื่อปริศนาธรรมที่สอนคุณงามความดี และสร้างบรรยากาศแห่งปัญญาภายในพระอุโบสถ ให้เป็นศูนย์รวมจิตใจและเผยแผ่ความรู้ ทางคุณธรรมจริยธรรมอันดีงาม ซึ่งส่งมอบและติดตั้งผลงานประติมากรรมนูนสูง 3 มิติ ให้กับทางวัดปัญญานันทารามเป็นที่เรียบร้อย โดยมีพระปัญญานันทมุนี และพระมหาเฉลิม?ปิยะทัสสี เจ้าอาวาสวัดปัญญานันทาราม เป็นผู้รับการถวาย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยพจน์ กล่าว