กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--ปตท.
วันนี้ (31 สิงหาคม 2548) เวลา 14.00 น. ที่ โรงแรมโฟร์ซีซั่น ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมการใช้ก๊าซเอ็นจีวีในภาคขนส่ง และ การร่วมดำเนินโครงการขยายการใช้ก๊าซเอ็นจีวีในรถโดยสารของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ระหว่าง กระทรวงพลังงาน กับ กระทรวงคมนาคม / บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ / และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ขนส่ง จำกัด รวมทั้งสิ้นจำนวน 3 ฉบับ
สำหรับ การลงนามฯ ฉบับแรก นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมสนับสนุนการใช้ก๊าซเอ็นจีวีในภาคขนส่ง เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำให้ประเทศลดการขาดดุลทางการค้าและประหยัดเงินตราจากการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ โดยทั้ง 2 กระทรวง ได้ร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน และ ผลักดันการใช้ก๊าซเอ็นจีวีให้เพิ่มมากขึ้น ในภาคคมนาคมขนส่ง โดยกำหนดให้ 1) รถยนต์โดยสาร ขสมก. รถยนต์โดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ รถสามล้อ รถบรรทุกสินค้า รถโดยสาร รถไฟ เรือประมง และ เรือที่ใช้ในการคมนาคมขนส่งเปลี่ยนมาใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิง 2) กำหนดให้รถที่อยู่ในความดูแล และบริหารโดย บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) ในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ให้ใช้ก๊าซเอ็นจีวี 3) ลดภาระภาษีประจำปีทะเบียนรถยนต์ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี 4) เร่งขยายจำนวนสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวี โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้ใช้พื้นที่ริมทางหลวงและทางรถไฟ ในการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และสร้างสถานีบริการเอ็นจีวี 5) ส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มจำนวนผู้ที่ได้รับความเห็นชอบให้ตรวจและทดสอบถังและอุปกรณ์สำหรับรถเอ็นจีวีให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น 6) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ใช้พื้นที่ริมน้ำในการก่อสร้างสถานีเอ็นจีวีลอยน้ำ
การลงนามฯ ฉบับที่สอง เป็นการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมเพื่อดำเนินโครงการติดตั้งอุปกรณ์และดัดแปลงใช้เอ็นจีวีในรถโดยสารประจำทาง ขสมก. จำนวน 1,000 คัน ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดย นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กับ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดย นายปกศักดิ์ เศรษฐบุตร ผู้อำนวยการ ขสมก. ซึ่งสาระสำคัญมีดังนี้ ปตท. จะเป็นผู้ดำเนินการและให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงรถโดยสารของ ขสมก. ซึ่งเป็นรถยนต์ดีเซลให้ใช้ก๊าซเอ็นจีวีได้ ทั้งในรูปแบบของการติดตั้งอุปกรณ์ใช้ก๊าซเอ็นจีวี
เพิ่มเติมให้เป็นระบบเชื้อเพลิงร่วม (Diesel Dual Fuel: DDF) และ การดัดแปลงเครื่องยนต์ดีเซลเดิมให้ เป็นระบบเชื้อเพลิงเอ็นจีวีอย่างเดียว (Dedicated NGV) รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,000 คัน ซึ่ง ปตท. จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายคืนโดยไม่คิดดอกเบี้ย จากการบวกเพิ่มในราคาก๊าซเอ็นจีวีกิโลกรัมละ 5 บาท รวมทั้งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่าง ๆ ในการสร้างสถานีเอ็นจีวี เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการ กับรถโดยสารประจำทางที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี จำนวน 1,000 คัน ดังกล่าว ทั้งนี้ในส่วนของ ขสมก. จะรับผิดชอบในการจัดหารถโดยสารประจำทาง ขสมก. จำนวน 1,000 คัน ที่มีสภาพการใช้งานดี และเหมาะสมที่จะให้ ปตท. ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์และดัดแปลงใช้เอ็นจีวีได้ทันที รวมทั้งจัดหาพื้นที่ในอู่รถโดยสารของ ขสมก. เพื่อให้ ปตท. สร้างสถานีบริการเอ็นจีวี โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือค่าเช่าใดๆ
การลงนามฯ ฉบับที่สาม เป็นการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมในการดำเนินโครงการนำร่องติดตั้งอุปกรณ์และดัดแปลงใช้เอ็นจีวีในรถโดยสารประจำทาง บขส. ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดย นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กับ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) โดย นายธวัชชัย เผ่าเหลืองทอง ผู้จัดการใหญ่ บขส. ซึ่งสาระสำคัญส่วนใหญ่เหมือนกับ ขสมก. โดยจะนำรถโดยสารที่วิ่งสายตะวันออก และในภาคกลาง ที่มีสถานีเอ็นจีวีรองรับ จำนวน 30 คัน มานำร่องติดตั้งอุปกรณ์ใช้ก๊าซเอ็นจีวี ทั้งในระบบเชื้อเพลิงร่วม และ ระบบใช้เชื้อเพลิงเอ็นจีวีอย่างเดียว หลังจากประเมินผลและมีการขยายสถานีบริการเอ็นจีวีไปเส้นทางอื่นแล้ว บขส. จะได้พิจารณานำรถที่เหลือกว่า 1,000 คัน มาติดตั้งดัดแปลงเครื่องยนต์ใช้ก๊าซเอ็นจีวีต่อไป นอกจากนี้ บขส. ยังจะให้ความร่วมมือในการประสานงานธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ในการใช้สิทธิการเดินรถของผู้ประกอบการเดินรถร่วมเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อจาก ธพว. เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเดินรถร่วมในการขอสินเชื่อ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงรถ หรือ ติดตั้งอุปกรณ์เอ็นจีวีอีกด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การร่วมมือกันระหว่าง กระทรวงพลังงาน และ กระทรวงคมนาคมในครั้งนี้ จะทำให้การขยายการใช้ก๊าซเอ็นจีวีในภาคคมนาคมขนส่งประสบความสำเร็จ มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากดำเนินการได้ตาม Roadmap ฉบับปรับปรุงที่ได้นำเสนอต่อกระทรวงพลังงาน ประเทศไทยจะมีรถใช้ก๊าซเอ็นจีวี ประมาณ 180,000 คัน ในปี 2551 ซึ่งจะสามารถใช้ก๊าซธรรมชาติปริมาณ 220 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ทดแทนการใช้น้ำมันได้ประมาณ 2,200 ล้านลิตร/ปี คิดเป็นมูลค่าเทียบเท่านำเข้าน้ำมันดิบ ณ ราคาปัจจุบัน มีมูลค่าถึง 41,100 ล้านบาท/ปี ดังนั้นจะเห็นว่าการใช้ก๊าซเอ็นจีวีในภาคการขนส่ง นับเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยประเทศลดการขาดดุลทางการค้าได้อย่างมีประสิทธิผล ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้ ปตท. เร่งดำเนิน “โครงการเอ็นจีวีเพื่อประชาชน” และ “โครงการเอ็นจีวีเพื่อเศรษฐกิจไทย” ขณะนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนและ
ผู้ประกอบการขนส่งจำนวนมาก ดังนั้น ความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงคมนาคมในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยทำให้ประเทศประหยัดเงินตราจากการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยบรรเทาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการในภาคขนส่ง ในภาวะวิกฤตราคาน้ำมันอีกด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ในปี 2547 ประเทศไทยมีการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซแอลพีจี สูงถึงประมาณ ปีละ 42,000 ล้านลิตร ซึ่งประมาณร้อยละ 90 ได้จากการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ เป็นมูลค่าสูงถึงประมาณ 500,000 ล้านบาท โดยมีผู้ใช้หลักคือภาคคมนาคมขนส่ง ซึ่งมีการใช้ร้อยละ 68 ของการใช้ทั้งประเทศ ซึ่งการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก นอกจากจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ใช้ยานยนต์ และผู้ประกอบการขนส่ง แล้วยังส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย กระทรวงคมนาคมได้ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว จึงได้ร่วมกับ กระทรวงพลังงาน ในการเร่งส่งเสริมให้มีการใช้ก๊าซเอ็นจีวีในภาคการขนส่งให้แพร่หลายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยนอกจากจะสั่งการให้ หน่วยงานภายใต้สังกัด เช่น ขสมก. บขส. และ บทม. เร่งดำเนินการใช้ก๊าซเอ็นจีวีทดแทนน้ำมันแล้ว ยังได้มอบหมายให้ กรมการขนส่งทางบก ประสานงานกับ ปตท. ในการช่วยเผยแพร่ข้อมูล ตลอดจนให้ความรู้ความเข้าใจในการใช้ก๊าซเอ็นจีวี ให้ผู้ประกอบการขนส่งประเภทต่าง ๆ และ เร่งให้มีผู้ตรวจและทดสอบรถเอ็นจีวีมากยิ่งขึ้น โดยให้ประสานงานมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หน่วยงานราชการต่าง ๆ เช่น ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และ สถาบันยานยนต์ ฯลฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความรู้ทางวิศวกรรมระดับสูง ให้เป็นผู้ตรวจและทดสอบรถเอ็นจีวีเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนจะให้ กรมทางหลวง และ การรถไฟแห่งประเทศไทย ขยายความร่วมมือในการให้ ปตท.ใช้พื้นที่ในการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และในการสร้างสถานีเอ็นจีวี รวมถึงให้ กรมเจ้าท่า สนับสนุนพื้นที่ริมน้ำในการก่อสร้างสถานีเอ็นจีวีลอยน้ำ เพื่อรองรับการขยายการใช้ก๊าซเอ็นจีวีที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
โทรศัพท์ 0-2537-3217
ส่วนประชาสัมพันธ์ กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ
โทรสาร 0-2537-3211
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)--จบ--