กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--คาร์ลบายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ที่ 3 จากขวา) พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.อังคีร์ ศรีภคากร หัวหน้าศูนย์วิจัยยานยนต์และระบบขนส่งอัจฉริยะ (ที่ 2 จากขวา) ให้การต้อนรับผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้าจากบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ดร. ปีเตอร์ ชิเล่ (ซ้ายสุด) และ ดร.แพทริค เฮลวิค (ที่ 2 จากซ้าย) ในโอกาสเป็นวิทยากรบรรยายเปิดการสัมมนาพิเศษชุด “Smart Mobility Seminar Series” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด แก่นิสิตนักศึกษา คณาจารย์ และผู้สนใจทั่วไป ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมี มร.มาคุส ไวเดลิค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ThaiGerTec (ขวา) เข้าร่วมการบรรยาย
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ThaiGerTec และ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย จัดการบรรยายเปิดงานสัมมนาชุดพิเศษ “Smart Mobility Seminar Series” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด แก่นิสิตนักศึกษา คณาจารย์ และผู้สนใจทั่วไป โดยการบรรยายครั้งแรกนี้ได้รับเกียรติจากวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเครื่องยนต์ไฟฟ้าจากบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป รวมทั้งมีการจัดแสดงรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู i3 ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้ผู้สนใจได้สัมผัสกับนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่มีความล้ำสมัยในด้านเทคโนโลยีที่สุดในโลก
การบรรยายครั้งแรกนี้ ดร.แพทริค เฮลวิค วิศวกรด้านระบบการพัฒนา Modular Function และ ดร. ปีเตอร์ ชิเล่ วิศวกรด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์และฟังก์ชั่นสำหรับ e-powertrain สองผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้าจากบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ร่วมพูดคุยในหัวข้อ Automotive Software Engineering with Autosar และ Function Development for Hybrid and Batter Electric Vehicles ซึ่งมีรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยู i3 เป็นกรณีศึกษา โดยมีนิสิตนักศึกษา คณาจารย์และผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก
การสัมมนาชุดพิเศษ “Smart Mobility Seminar Series” นี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือทางด้านการศึกษาวิจัยและพัฒนาที่ชาร์จไฟฟ้ากระแสตรงแบบเร็ว (DC quick charger) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ระหว่างบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป และ ThaiGerTec ร่วมด้วยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อเป็นการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยให้กับสาธารณชน ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของรัฐบาลไทย ที่กำลังให้ความสนใจสนับสนุนการลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ระบบปลั๊กอินไฮบริด รวมถึงการวางโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในอนาคต