กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--WWF
ต่อ Soul-sucking “dementor” wasp, ค้างคาว Long-fanged bat, งูปล้องฉนวน Stealthy Wolf Snake และแมลงที่มีขนาดยาวเป็นอันดับสองของโลก คือส่วนหนึ่งของชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชรวมทั้งสิ้น 139 ชนิดพันธุ์ที่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในปี2557 ที่ผ่านมา และหลายชนิดกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง จากข้อมูลในรายงานฉบับล่าสุด “มหัศจรรย์ลุ่มน้ำโขง” (Magical Mekong) ที่เผยแพร่วันนี้โดย WWF หรือกองทุนสัตว์ป่าโลก
รายงานดังกล่าวได้ระบุว่า ชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ถูกค้นพบแบ่งออกเป็น พันธุ์พืช 90 ชนิดพันธุ์,สัตว์เลื้อยคลาน 23 ชนิดพันธุ์, สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 16 ชนิดพันธุ์, ปลา 9 ชนิดพันธุ์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีก 1 ชนิดพันธุ์ซึ่งรวมถึงปะการังขนนกซึ่งถูกค้นพบใกล้กับเกาะภูเก็ตโดยชนิดพันธุ์ปะการังที่ใกล้เคียงที่สุดกับปะการังชนิดนี้นั้นมีถิ่นอาศัยในทวีปแอฟริกา, ผีเสื้อกลางคืนสิรินธรชนิดพันธุ์ใหม่ถึง 4 ชนิดพันธุ์, กบชนิด Color-changing thorny frog ที่ผิวหนังถูกปกคลุมด้วยหนามทรงกรวยสีขาวเหมือนกระดาษทรายและกล้วยไม้สองชนิดพันธุ์ใหม่ที่ถูกค้นพบในตลาดการค้าไม้ดอกไม้ประดับป่า
ในระหว่างปี พ.ศ.2540 ถึง พ.ศ.2557 มีสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ใหม่ที่ถูกค้นพบในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอันประกอบด้วยประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และไทยมากถึง 2,216 ชนิดพันธุ์ – เฉลี่ยเป็นจำนวนถึง 3 ชนิดพันธุ์ต่อสัปดาห์
“นับได้ว่าระบบนิเวศของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอันอุดมสมบูรณ์และมีเอกลักษณ์นี้เป็นสมบัติที่มีค่าที่ได้มอบประโยชน์มากมายกับทุกชีวิตมาโดยตลอด มันเป็นทั้งบ้านของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดพันธุ์ และให้ประโยชน์ที่สำคัญแก่คนอีกหลายล้านชีวิตในภูมิภาคนี้” ทีค เซง ผู้อำนวยการฝ่ายงานอนุรักษ์ WWF-Greater Mekong กล่าว
สัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่โดดเด่นชนิดใหม่ในการค้นพบครั้งนี้:
1.Soul-sucking “dementor” wasp: ต่อชนิดพันธุ์ใหม่ที่ถูกค้นพบในประเทศไทย (Ampulex dementor) ที่ถูกตั้งชื่อตามตัวละคร “ผู้คุมวิญญาณ” หรือ “dementor” จากนวนิยายชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ต่อชนิดนี้สามารถสะกดจิตใต้สำนึกและสติของเหยื่อซึ่งคือ “แมลงสาบ” ได้ด้วยการต่อยเพียงครั้งเดียวโดยจะทำการฉีดพิษเข้าไปในกลุ่มเซลล์ประสาทบนหน้าท้องของเหยื่อ ซึ่งจะทำให้เหยื่อกลายเป็นเหมือนศพที่ยังคงมีชีวิตและสูญเสียการควบคุมร่างกายของตัวเอง และจะทำการลากเหยื่อด้วยหนวดไปยังสถานที่ที่ปลอดภัยเพื่อกัดกินมันทั้งเป็น
2.ค้างคาว Long-fanged bat: น่ายำเกรงเช่นเดียวกันกับตัวต่อ! ค้างคาวชนิดพันธุ์นี้มีเขี้ยวที่ยาวจนสามารถ“เห็นได้ชัดเจนจากการมองเพียงครั้งเดียว” แต่ค้างคาวชนิดนี้กลับต้องเกรงกลัวต่อการคุกคามถิ่นอาศัยจากน้ำมือมนุษย์ –
การสร้างเขื่อนและการทำเหมืองแร่ในประเทศลาว – ที่อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ในที่สุด
3.กะท่าง (ซาลาแมนเดอร์ขนาดเล็ก) ชนิดพันธุ์ใหม่จากเมียนมาร์ (New crocodile newt from Myanmar):
กะท่างชนิดที่เพิ่งถูกค้นพบในเมียนมาร์นี้อาจตกอยู่ในอันตรายจากโครงการก่อสร้างที่ตัดทางน้ำที่ไหลไปสู่บ่อเพาะพันธุ์กะท่างแหล่งหลัก
อันจะนำไปสู่การสูญพันธุ์ของกะท่างในอนาคต การจับกะท่างเพื่อค้าขายระหว่างประเทศเป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามโดยมีการพบว่า
กะท่างชนิดนี้ถูกขายอยู่ในตลาดค้าขายสัตว์เลี้ยงไกลถึงทวีปยุโรป
4.กล้วยไม้สองชนิดพันธุ์ใหม่ (ไม่เปิดเผยชื่อ): กล้วยไม้สองชนิดพันธุ์ใหม่ถูกค้นพบในตลาดไม้ดอกไม้ประดับจตุจักร นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบกล้วยไม้สองชนิดพันธุ์นี้เกือบไม่ได้เผยแพร่การค้นพบนี้ เพราะเกรงว่าความสนใจที่จะเกิดขึ้นในสังคมจะทำให้ความต้องการกล้วยไม้ชนิดนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและอาจส่งผลคุกคามอย่างร้ายแรงต่อกล้วยไม้ชนิดพันธุ์ใหม่นี้ แต่เขาก็ตระหนักได้ว่ากล้วยไม้สองชนิดพันธุ์ใหม่นี้ควรได้รับการเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักในวงการวิทยาศาสตร์เพื่อได้รับการอนุรักษ์ต่อไป
5.แมลงที่มีขนาดยาวเป็นอันดับสองของโลก (World’s second-longest insect): ตั๊กแตนกิ่งไม้ที่มีความยาวถึง54 เซนติเมตรโดยวัดจากขาหลังถึงส่วนหัวนี้ถูกพบห่างจากหมู่บ้านและทุ่งนาในเวียดนามตอนเหนือเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น
6.งูปล้องฉนวน Stealthy wolf snake: ลวดลายแบบ “ค้างคาวบิน” อันเป็นเอกลักษณ์ช่วยให้งูชนิดนี้สามารถพรางตัวให้กลมกลืนไปกับเปลือกไม้และมอสในป่าบนทิวเขาคาร์ดามอมในกัมพูชา
“เช่นเดียวกับข้อมูลที่ปรากฏในรายงาน “มหัศจรรย์ลุ่มน้ำโขง” นักวิทยาศาสตร์ผู้อยู่เบื้องหลังการค้นพบเหล่านี้ต่างรู้สึกว่าพวกเขากำลังทำงานแข่งกับเวลาในการเก็บบันทึกชนิดพันธุ์ต่างๆ และผลักดันเพื่อให้เกิดการคุ้มครองและอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตเหล่านี้อย่างเต็มที่ก่อนที่พวกมันจะสูญพันธุ์ไปจากโลก” ทีค เซง กล่าวเพิ่ม
ภัยคุกคามที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงนี้ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างถนนข้ามพรมแดนในเขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์มนฑลคีรีในประเทศกัมพูชา โครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังงานน้ำที่ไม่ยั่งยืนในประเทศลาวสองโครงการ การตัดไม้ทำลายป่าที่มีอัตราเพิ่มสูง และการลักลอบล่าสัตว์อย่างต่อเนื่อง
ดร.ทอม เกรย์, ผู้จัดการฝ่ายงานอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ WWF-Greater Mekong กล่าวว่า “การค้นพบครั้งใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงครั้งนี้เป็นเพียงผลสำรวจเบื้องต้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ใหม่ๆ ที่ถูกค้นพบเหล่านี้กำลังถูกคุกคามและตกอยู่ในอันตรายในเวลาเดียวกัน ลองคิดดูสิว่ามีสัตว์ป่าและพันธุ์พืชกี่ชนิดที่ได้สูญพันธุ์ไปก่อนที่จะถูกค้นพบ”
WWF เชื่อว่าผู้พิทักษ์ป่าสมควรได้รับความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน ทั้งการสนับสนุนด้านอุปกรณ์และการฝึกอบรมทักษะต่างๆ ควบคู่ไปกับความพยายามในการบังคับใช้กฎหมายที่มีเป้าหมายเป็นอาชญากรการค้าสัตว์ป่าและไม้ผิดกฎหมาย ข้อตกลงร่วมและความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ถิ่นอาศัยหลักของสัตว์ป่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวดซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือข้ามพรมแดนของแต่ละประเทศเพื่อส่งเสริมให้เกิดการตัดสินใจที่มุ่งก่อให้เกิดความยั่งยืน เช่น การกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างยั่งยืน
“การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ใหม่ๆ ที่น่าทึ่ง ตั้งแต่กบชนิด Color-changing thorny frog จนถึงสัตว์เลื้อยคลานที่ถูกค้นพบเป็นชนิดพันธุ์ลำดับที่ 10,000 ของโลกนี้ได้สร้างความหวังให้กับอนาคตของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” เกรย์ กล่าวเพิ่มเติม “WWF และพันธมิตรของพวกเรามุ่งทำงานทั้งด้านงานวิจัยในพื้นที่และการฝึกอบรมทักษะให้กับผู้พิทักษ์ป่าเพื่อสร้างหลักประกันว่าสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ถูกค้นพบเหล่านี้ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่รอการค้นพบจะได้รับการปกป้องอย่างดีที่สุดเพื่อลูกหลานของเราในอนาคต”