กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี
นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.อุบลราชธานี (สคร.7) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวัน “งดสูบบุหรี่โลก” โดยในปี 58 นี้มีคำขวัญรณรงค์ว่า “หนุนกฎหมายบุหรี่ใหม่ เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย” ซึ่งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญสนับสนุนการรณรงค์ ต่อต้านการสูบบุหรี่ผ่านสื่อโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมนำเสนอร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่เข้า ครม. ปรับปรุงกฎหมายเดิม 2 ฉบับที่ใช้มา 22 ปี ให้ทันสมัยและทันกลยุทธ์การตลาดบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ การปรับปรุงความหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ให้ครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบและผลิตภัณฑ์ยาสูบ รูปแบบใหม่ เช่น บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ กำหนดอายุขั้นต่ำผู้ซื้อผลิตภัณฑ์ยาสูบเพิ่มขึ้นจากเดิม 18 ปี เป็น 20 ปี และห้ามขายบุหรี่แบบแบ่งซอง ห้ามขายทางอินเทอร์เน็ต ห้ามแสดงราคาผลิตภัณฑ์ยาสูบ ณ จุดขายในลักษณะ จูงใจให้อยากสูบบุหรี่ ห้ามขายในสถานที่ต่างๆ เช่น วัด สถานบริการสาธารณสุข สถานศึกษา สวนสาธารณะ ห้ามโฆษณาและสื่อสารการตลาด เช่น ห้ามแสดงชื่อ เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ยาสูบในสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ อินเทอร์เน็ต การประกวดหรือการแข่งขัน
นพ.ศรายุธ กล่าวต่อว่า ควันบุหรี่มีสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด เป็นสารพิษมากกว่า 250 ชนิด และเป็นสารก่อมะเร็งมากกว่า 50 ชนิด ในควันบุหรี่มีสารพิษที่สำคัญ ได้แก่ นิโคติน ทาร์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรเจนไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ แอมโมเนีย และไซยาไนด์ เป็นต้น การสูบบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยทำให้ผู้สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจเนื่องจากหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคหลอดเลือดเลี้ยงสมอง สูบบุหรี่หนึ่งมวนทำให้อายุสั้น 6 นาที
นอกจากนี้ ผลกระทบจากบุหรี่ นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ควันบุหรี่ก่อให้เกิดโทษทั้งต่อผู้สูบและผู้สูดดมควัน หรือที่เรียกว่า ควันบุหรี่มือสอง แม้จะได้รับควันเพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็เป็นอันตรายได้ เช่น เด็กเล็ก ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง อาจเจ็บป่วยด้วยโรคหลอดลมอักเสบ และปอดบวม หญิงตั้งครรภ์ และทารก ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองอย่างต่อเนื่องจะมีโอกาสเกิดครรภ์เป็นพิษ แท้ง คลอดก่อนกำหนด ผู้ใหญ่ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็งที่ลำคอและเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งอื่นๆ มากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า องค์การอนามัยโลกระบุชัดเจนว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่สามารถป้องกันได้ ทั้งต่อผู้สูบเองและ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดที่สูดหายใจเอาอากาศที่มีควันบุหรี่เข้าไป เพื่อลดปัญหาสังคม จากการสูบบุหรี่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดโรคต่างๆ การรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ จึงไม่ใช่จะกระทำแค่วันเดียว แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นพวกเราทุกๆ คนควรร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อหาทางป้องกันแนะนำแนวทางแก้ไข ให้กำลังใจแก่ผู้สูบบุหรี่ เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ในการลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ในที่สุด สำหรับประชาชนที่ต้องการเลิกบุหรี่ สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ โทร.1600 ตลอด 24 ช.ม./นพ.ศรายุธ กล่าวปิดท้าย