กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--กรมป่าไม้
นับวันทรัพยากรป่าไม้ของประเทศไทยยิ่งลดน้อยลง มีการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกสร้างรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ ขยายพื้นที่ทางการเกษตร โดยเฉพาะสวนยางพาราที่บุกรุกพื้นที่ป่าเกือบ6 ล้านไร่ทั่วประเทศ
ส่งผลกระทบมายังปัญหาราคายางพาราตกต่ำ กระทั่งมีมติคณะรัฐมนตรี 3 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ต้องการปราบปรามการปลูกยางพาราที่บุกรุกพื้นที่ป่าทั่วประเทศ เพื่ออนุรักษ์ป่าต้นน้ำและแก้ปัญหายางพาราตกต่ำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงมีภารกิจทวงคืนผืนป่าจากสวนยางพาราที่รุกป่ารวมเกือบ 6 ล้านไร่จากการสำรวจพบว่า มีสวนยางพาราปลูกบนที่ดินถูกต้องมีเอกสารสิทธิ 18 ล้านไร่ทั่วประเทศ และบุกรุกพื้นที่ป่าของรัฐเกือบ 6 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวนประมาณ 4 ล้านไร่ และพื้นที่ป่าอนุรักษ์อีกประมาณ 2 ล้านไร่
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า กรมป่าไม้มีแผนปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ป่า 4 แสนไร่ภายในปี 2558 โดยภายในเดือนพฤษภาคม จะเอาคืนให้ได้ 40,000 ไร่ มิถุนายน 55,000 ไร่ กรกฎาคม 55,000 ไร่ สิงหาคม-ธันวาคม อีกเดือนละ 50,000 ไร่ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวหากแบ่งเป็นรายภาค เป็นพื้นที่ภาคเหนือ142,000 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ71,600 ไร่ ภาคกลาง 77,300 ไร่ “การทวงคืนพื้นที่ป่าจากสวนยาง จะเน้นเฉพาะส่วนที่เป็นของนายทุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการบุกรุกใหม่หลังมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 และพบมากหลังปี 2552 โดยผู้บุกรุกเหล่านี้มักมีนายทุนแฝงตัวอยู่เบื้องหลัง โดยใช้มาตรา 25 ตัดต้นยางพาราสำหรับคดีสิ้นสุดแล้ว พร้อมเร่งรัดคดีค้างเก่า และตรวจพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนมือไปสู่นายทุน ส่วนของเกษตรกรรายย่อยที่ยากจนจริง ทางกรมป่าไม้กำลังจะพิจารณาทางออกว่าจะทำอย่างไรให้คนกับป่าอยู่ด้วยกันได้"
อธิบดีกรมป่าไม้ อธิบายเพิ่มเติมว่า ส่วนการตัดต้นยางนั้นจะทยอยตัดก่อน60เปอร์เซ็นต์ของแปลงยางพาราที่ถูกตรวจยึดจับกุม และคงเหลืออีก40เปอร์เซ็นต์ไว้ตัดในปีต่อๆ ไป พร้อมปลูกต้นไม้เสริมเพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบนิเวศสำหรับพื้นที่เป้าหมายยึดสวนยางพารารุกป่าประมาณ 4.4 ล้านไร่ทั่วประเทศนั้น เป้าหมายลำดับที่ 1 มีทั้งหมด 12 จังหวัด คือ เชียงราย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ บึงกาฬ เลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำพู อุดรธานี อุบลราชธานี พังงา และพัทลุง 200 ป่า 250,000 ไร่เป้าหมายลำดับที่ 2 มี 12 จังหวัด คือ จันทบุรี ระยอง กระบี่ ชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง ยะลา ระนอง สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี 292 ป่า เนื้อที่ 150,000 ไร่ และเป้าหมายลำดับที่ 3 มี 41 จังหวัด คือ นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ กาญจนบุรี ปัตตานี ฉะเชิงเทรา อำนาจเจริญ พะเยา ขอนแก่น ชลบุรี ชัยภูมิ นครพนม ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ ภูเก็ต ลำปาง ตราด บุรีรัมย์ กำแพงเพชร ยโสธร สุโขทัย สระแก้ว เพชรบุรี มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ตาก เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ อุทัยธานี ลำพูน สุพรรณบุรี แพร่ สุรินทร์ นครราชสีมา ปราจีนบุรี ราชบุรี แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ มหาสารคาม ลพบุรี สระบุรี และชัยนาท จำนวน 505 ป่า เนื้อที่ 50,000 ไร่