กรุงเทพฯ--29 พ.ค.--PwC Consulting (ประเทศไทย)
PwC ชี้เทรนด์เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) พลิกโฉมธุรกิจยุคดิจิทัล หลังเทคโนโลยีเชื่อมโลกทั้งใบเข้าหากัน ส่งผลให้ผู้คนหันมาแชร์ทรัพยากรผ่านอินเตอร์เน็ตมากขึ้น เหตุผู้บริโภคยุคใหม่เข้าถึงสินค้าและบริการด้วยการเช่า-ยืม แทนการซื้อไว้เพื่อครอบครอง คาดดันมูลค่าตลาดของธุรกิจกลุ่มนี้แตะ 11 ล้านล้านบาท ภายใน 10 ปีข้างหน้า พร้อมมองธุรกิจไทยจะหันมาทำแชร์ริ่งอีโคโนมี่มากขึ้น สอดรับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล
นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงผลสำรวจ The Sharing Economy ที่ได้ทำการสำรวจผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา จำนวน 1,000 รายว่า ปัจจุบันกระแสเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) กำลังถูกพูดถึงในวงกว้าง และมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัลเป็นอย่างยิ่ง โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2568 กลุ่มอุตสาหกรรมที่นำแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปันมาปรับใช้กับธุรกิจ ได้แก่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (Travel) ธุรกิจให้บริการโดยสารทางรถยนต์รถเช่าและแบ่งปันรถยนต์กันใช้ (Car sharing) ธุรกิจการเงิน (Finance) ธุรกิจจัดหาบุคคลเข้าทำงาน (Staffing) และธุรกิจบริการเพลงหรือวิดีโอแบบสตรีมมิ่ง (Music and video streaming) จะช่วยผลักดันให้มูลค่าของตลาดแชร์ริ่งอีโคโนมี่เติบโตถึง 11 ล้านล้านบาท (3.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) จากปัจจุบันที่ราว 5 แสนล้านบาท
“ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และอินเตอร์เน็ตที่ช่วยย่อโลกทั้งใบมาอยู่บนมือเรา ทำให้เกิดแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน ที่นอกจากทุกคนในสังคมสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการ รวมถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆได้ทุกที่ ทุกเวลา ยังเกิดการ แลกเปลี่ยน หรือแบ่งปันส่วนที่เหลือใช้ และนำไปสู่โครงสร้างธุรกิจในรูปแบบแชร์ริ่งอีโคโนมี่ ” นางสาววิไลพรกล่าว
สำหรับโครงสร้างธุรกิจแบบ Sharing Economy หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อการบริโภคชนิดร่วมมือกัน (Collaborative Consumption) และการทำธุรกิจจากเพื่อนสู่เพื่อน (Peer to Peer: P2P) เป็นการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่ ซึ่งช่วยให้บุคคลหรือองค์กรสามารถสร้างรายได้จากสิ่งของหรือทรัพย์สินที่ตนมีมากเกินความจำเป็นหรือไม่ได้ใช้แล้ว (Excess capacity) ผ่านการให้บริการบนแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต หรือสมาร์ทโฟน เพื่อเชื่อมต่อระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการในการเข้าถึงสินค้าหรือบริการ โดยผู้รับบริการจะอาศัยข้อมูลบนเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นพื้นฐานที่ช่วยในการตัดสินใจ ตั้งแต่รถยนต์ ห้องพัก ไปจนถึง เสื้อผ้า ของมือสอง และ กระเป๋าแบรนด์เนม ฯลฯ ในระดับกว้างขวาง ซึ่งทั้งหมดเป็นไปได้เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่
ทั้งนี้ ตัวอย่างของธุรกิจยอดฮิตแบบ Sharing Economy ที่กำลังเป็นกระแสในสังคมออนไลน์ทั่วโลก ได้แก่ บริษัท Airbnb ตลาดชุมชนที่ผู้เข้าพักสามารถจองที่พักจากเจ้าของที่พัก โดยเน้นการนำเสนอประสบการณ์ของผู้เข้าพักและเจ้าของที่พัก และเชื่อมโยงคนที่มีพักว่างกับคนที่กำลังมองหาที่พักเข้าหากัน ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโดยเฉลี่ยกว่า 425,000 รายต่อคืน และมีเครือข่ายการให้บริการใน 190 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นหนึ่งในบริษัท Start-up ที่เติบโตและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วที่สุดบริษัทหนึ่งในตลาดนี้
รายงานยังระบุว่า ในขณะที่ Spotify ผู้ให้บริการเพลงแบบสตรีมมิ่งมีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 40 ล้านราย Uber ถือเป็นบริษัทผู้ให้บริการรถแท็กซี่ในรูปแบบรถลิมูซีนรายใหญ่ของโลก ที่ใช้การเรียกบริการผ่านแอพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน และมีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Sharing Economy และแม้ว่า Uber จะถูกตรวจสอบจากสาธารณชน เกิดการประท้วง คดีความ และข้อโต้แย้งทางกฎหมายต่างๆในหลายๆประเทศในช่วงที่ผ่านมา แต่แท็กซี่หรู Uber ก็ยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคและสามารถขยายกิจการไปได้ใน 250 ประเทศทั่วโลกได้ในเวลาเพียง 5 ปี และมีมูลค่าบริษัทกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ มากกว่ามาร์เก็ตแคปของสายการบินอเมริกันบางราย
“ประโยชน์สำคัญที่ผู้บริโภคได้รับจาก Sharing Economy คือ ประหยัดเวลา ประหยัดสตางค์ และช่วยให้การดำเนินชีวิตประจำวันเป็นเรื่องง่าย มากไปกว่านี้ เทคโนโลยียังช่วยจับคู่ความต้องการของผู้บริโภคให้ตรงกับอุปทาน หรือทรัพยากรที่มีอยู่ในตลาดได้ง่าย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ” นางสาว วิไลพร กล่าว
นอกจากนี้ การทำธุรกิจแบบ Sharing Economy ยังช่วยให้แนวคิดหรือพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปโดยหันมาให้ความสำคัญกับคุณค่า (Value) ของสินค้าและบริการนั้นๆมากขึ้นว่าคุ้มค่าต่อเวลา จำนวนเงินในกระเป๋า และสิ่งแวดล้อมรอบตัวหรือไม่ และช่วยลดการใช้ทรัพยากรที่จำกัดอย่างฟุ่มเฟือย
ผลการศึกษายังพบว่า 81% ของผู้บริโภคชาวอเมริกันที่ถูกสำรวจมองว่า การแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนสมบัติและสิ่งของระหว่างกันคุ้มค่ากว่าการซื้อมาครอบครอง ในขณะที่ 83% เห็นด้วยว่า การแชร์ทรัพยากรระหว่างกันช่วยทำให้ชีวิตสะดวกสบายและใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 43% ยังเชื่อด้วยว่า ยิ่งครอบครองหรือเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆจำนวนมากๆมีแต่จะเป็นภาระ ในขณะที่ 76% บอกว่า Sharing Economy เป็นการดำเนินธุรกิจที่มีส่วนช่วยในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง
‘ความไว้วางใจ’ หัวใจของแชร์ริ่งอีโคโนมี่
นางสาว วิไลพร กล่าวว่า ประเด็นเรื่องความไว้วางใจ (Trust) ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายโครงสร้างธุรกิจแบบ Sharing Economy มากที่สุด เพราะผูกติดไปกับประเด็นเรื่องของความปลอดภัย ธุรกิจในลักษณะนี้เน้นการแชร์ หรือแบ่งปันทรัพยากรผ่านอินเตอร์เน็ต ใช้สินค้าและบริการกับคนแปลกหน้า ไม่ว่าจะผู้ที่นำรถมาให้บริการรับส่ง หรือผู้ที่เปิดบ้านให้เช่า รวมไปถึงผู้ที่เข้ามาใช้บริการเอง ดังนั้น ธุรกิจลักษณะนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากผู้ประกอบการไม่สามารถหามาตรการสร้างความไว้วางใจต่อการให้บริการ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่าจะไม่โดนโกง หรือถูกทำร้ายจากมิจฉาชีพที่แอบแฝงมา
“การสร้างความไว้วางใจ ถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจนี้ ผู้ประกอบการต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยในการให้บริการ รวมไปถึงมีเครื่องไม้ เครื่องมือในการตรวจสอบประวัติของพนักงาน รวมทั้งนำข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์การใช้งานจริงของลูกค้า ที่มาเขียนรีวิวหรือให้ฟีดแบ็กไว้บนสังคมออนไลน์หรือบนแอพพลิเคชั่นนั้นๆมาประมวลผล เพื่อปรับปรุงความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะสะท้อนกลับมาถึงชื่อเสียงของผู้ให้บริการรายนั้นๆในที่สุด”
ผลจากการสำรวจพบว่า 69% ของผู้ถูกสำรวจกล่าวว่าจะเชื่อถือบริษัทที่ให้บริการธุรกิจแบบแชร์ริ่งอีโคนีมี่ก็ต่อเมื่อมีบุคคลที่ตนเชื่อถือมาแนะนำเท่านั้น
ไทยหนีไม่พ้นแชร์ริ่งอีโคโนมี่
นางสาววิไลพร กล่าวว่า ที่ผ่านมาธุรกิจแบบ Sharing Economy เติบโตอย่างมีนัยสำคัญในประเทศไทยไม่แพ้ชาติอื่นๆ เห็นได้จากการที่คนไทยเข้าไปแชร์ที่พัก หรือใช้บริการที่พักผ่านแอพมากขึ้น หรือแม้แต่การใช้บริการแท็กซี่ผ่านแอพก็มีมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการให้เลือกอยู่หลายรายด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Easy Taxi, Grab Taxi, Uber หรือ All Thai Taxi ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นในวงการแท็กซี่ไทย
ทั้งนี้ เชื่อว่าการที่ไทยกำลังปรับเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลตามนโยบายของภาครัฐ จะกระตุ้นให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานไอที รวมถึงกลยุทธ์การทำตลาด หรือโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้ เราจะเห็นธุรกิจไทยเป็นแบบ Sharing Economy มากยิ่งขึ้น โดยภาคส่วนต่างๆ จะเชื่อมเข้าหากัน และภาคธุรกิจจะแบ่งปันหรือใช้ทรัพยากรร่วมกันเพิ่มมากขึ้น
แม้ว่าการทำธุรกิจในรูปแบบ Sharing Economy จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมธุรกิจในหลายๆ อุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ การบริการและการท่องเที่ยว ค้าปลีก สื่อบันเทิง และสื่อสาร แต่ประเด็นในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าและบริการ ยังคงเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่เป็นการบ้านให้หลายๆ องค์กรต้องนำไปขบคิด โดยผู้บริโภคถึง 72% ต่างกล่าวว่า ความสม่ำเสมอของคุณภาพสินค้าและบริการเป็นสิ่งที่พวกเขากังวลมากที่สุดในการใช้บริการธุรกิจในรูปแบบนี้
“เรามองว่าตลาดแชร์ริ่งอีโคโนมี่ในไทยจะมีแนวโน้มที่สดใสและน่าจะเติบโตครอบคลุมไปในหลาย Sector ในระยะต่อไป แต่ ผู้ประกอบการที่ต้องการจะประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริงในตลาดนี้ ต้องรีบปรับตัว โดยทำความเข้าใจถึงพฤติกรรม และอำนาจการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคยุคดิจิทัลตั้งแต่วันนี้ และที่ขาดไม่ได้คือต้องปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว”
นางสาว วิไลพร กล่าวทิ้งท้ายว่า การปรับกลยุทธ์ของภาคธุรกิจนั้นไม่ได้จำกัดเพียงแค่ในแง่ของการทบทวนค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ สินทรัพย์ หรือทรัพยากรขององค์กร ว่าได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพหรือไม่ แต่รวมไปถึงความสามารถในการพัฒนาและปฏิรูปนโยบายของตนให้ทันสมัยและสอดรับกับข้อกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล เพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาทต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็น