กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยรังสิต
ประเมินเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังขยายตัวได้มากกว่า 4% ราคาพืชผลเกษตรกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยพร้อมการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง ภาคการลงทุนฟื้นตัว ภาคส่งออกได้รับแรงกดดันจากคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก มีการเริ่มปฏิบัติการหยุดนำเข้าสินค้าอาหารทะเลและอาจขยายวงได้หากไม่รีบแก้ไขปัญหาแรงงานทาส การกลับคืนประชาธิปไตยอย่างมีเสถียรภาพและระบบนิติรัฐเป็นหลักประกันต่อแนวโน้มเศรษฐกิจระยะยาว
สนับสนุนรัฐบาลเก็บภาษีมรดกและเรียกร้องให้เดินหน้าภาษีที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและปฏิรูปที่ดิน พร้อมลดภาษีด้วยการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการทำงาน การลงทุนและขยายกิจการเพิ่มขึ้น และบริหารทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจเพื่อให้มีงบประมาณลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบริหารหนี้สาธารณะ
1 มิ.ย. 2558 ที่ มหาวิทยาลัยรังสิต
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประเมินเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังขยายตัวได้มากกว่า 4% ราคาพืชผลเกษตรกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยพร้อมการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง ภาคการลงทุนฟื้นตัวพร้อมการเดินหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ภาคส่งออกได้รับแรงกดดันจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกจากประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์และละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น มีการหยุดนำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากไทยและอาจขยายวงได้หากไม่รีบแก้ไขปัญหาแรงงานทาส ขณะนี้มีการยกเลิกการนำเข้าไปแล้วโดย บริษัทคาร์ฟูร์ (ฝรั่งเศส) บริษัทโฮลฟู้ด (สหรัฐอเมริกา) บริษัทไอซีไอ (นอร์เวย์) นอกจากนี้เครือข่ายซูปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาอย่างวอลมาร์ท และ คอสโก้มีแนวโน้มจะยกเลิกการนำเข้าอาหารทะเลจากไทย บริษัทนำเข้าให้เหตุผลว่า ไม่พอใจต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนสิทธิแรงงานในกระบวนการผลิตสินค้า โดยที่ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะมีแรงงานจูงใจและเหตุผลนอกเหนือจากการค้าตามปรกติ เพราะปัญหาการค้ามนุษย์และการค้าแรงงานทาสอยู่ในสังคมไทยมานานแล้ว แต่ปัญหาดังกล่าวถูกนำมาใช้กดดันประเทศไทยมากเป็นพิเศษในช่วงนี้ การกลับคืนประชาธิปไตยอย่างมีเสถียรภาพและระบบนิติรัฐเป็นหลักประกันต่อแนวโน้มการเติบโตและความรุ่งเรืองก้าวหน้าของเศรษฐกิจระยะยาวของไทย สันติสุขในสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชน
ผศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า ขอสนับสนุนที่รัฐบาลและ สนช ได้ผ่านกฎหมายภาษีมรดกและเรียกร้องให้เดินหน้าภาษีที่ดินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปที่ดิน แม้นว่าการเก็บภาษีมรดกอาจจะสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลไม่มากและมีความผันผวนสูงแต่เป็นสัญลักษณ์และเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างกลไกทางภาษีเพื่อแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายความมั่งคั่ง พร้อมกันนี้ขอให้รัฐบาลปรับลดภาษีด้วยการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคลเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการทำงาน การลงทุนและขยายกิจการเพิ่มขึ้น และสนับสนุนให้มีการบริหารจัดการทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจใหม่อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสรวมทั้งเปิดกว้างให้เกิดการมีส่วนร่วมในกระบวนการการตัดสินใจมากขึ้น การจัดการบริหารทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่มีหนี้สินในระดับ 50,000 หมื่นล้านขึ้นไปซึ่งสร้างภาระทางการคลังจำนวนมากมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อลดข้อจำกัดทางด้านเงินงบประมาณในการลงทุนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน และประเทศชาติยังต้องการงบประมาณลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกมากและยังต้องบริหารหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อีกด้วย