กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--ad2y
ในอดีตโรคสุนัขบ้าเป็นปัญหาของประเทศไทย แต่ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่ลดผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าได้ดีมาก เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนทั้งหมด
“การลดผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าของเราพยายามใช้การควบคุมสัตว์ การฉีดวัคซีนในสัตว์ แต่มีอย่างหนึ่งที่เราประสบความสำเร็จมากคือ การให้วัคซีนป้องกันโรคและเซรุ่มในคน ภายหลังสัมผัสโรค” ศ.นพ.ธีระพงษ์ตัณฑวิเชียร หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า “ในช่วง10 ปีที่ผ่านมามีคนที่มารับบริการวัคซีนภายหลังสัมผัสโรคเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้นจนปัจจุบันมีคนที่มารับบริการวัคซีนภายหลังสัมผัสโรคเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศประมาณ 4 แสนรายต่อปี และทำให้มีค่าใช้จ่ายจำนวนมากแต่ก็สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้น้อยกว่า 5 รายต่อปีและการฉีดวัคซีนก็มีหลักการว่าถ้าคนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาเลย และถูกสุนัขกัดต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคทั้งหมด 5 ครั้ง และบางรายอาจต้องได้รับเซรุ่มร่วมด้วย แต่ถ้าคนที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน แต่ถูกกัดซ้ำกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ฉีดกระตุ้นได้ ซึ่งองค์การอนามัยโลกบอกว่าการฉีดกระตุ้นให้ฉีด 2 ครั้งคือวันแรกกับวันที่ 3 โดยจะฉีดเข้ากล้ามหรือผิวหนังก็ได้”
ศ.นพ.ธีระพงษ์ เล่าต่อไปว่า “ในครั้งนั้นทางสถานเสาวภา สภากาชาดไทยได้ทำการวิจัยพบว่า คนไข้ที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนถูกสุนัขกัดไม่จำเป็นต้องมาฉีดกระตุ้นถึง 2 ครั้งก็ได้เพราะการมา 2 ครั้งคือ หนึ่งต้องใช้จำนวนวัคซีนมาก สองคือต้องเสียเวลาการทำงาน เสียค่าเดินทาง ซึ่งการฉีดกระตุ้นเพียงครั้งเดียว (อาจจะมากกว่าหนึ่งเข็ม) จะสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการขาดงาน การเดินทาง ใช้วัคซีนน้อยลงและเจ้าหน้าที่ก็ทำงานน้อยลงนั่นเอง
“ดังนั้นใน 10 ปีที่ผ่านมาเราก็ทำวิจัยเกี่ยวกับการฉีดกระตุ้นเพียงครั้งเดียวในคนไข้ที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนโดยเริ่มจากการฉีด 4 จุดเข้าในหนังในวันเดียว คือฉีดเข้าทางผิวหนัง ต้นแขนและต้นขาสองข้าง ซึ่งจากการวิจัยแล้วพบว่าได้ผลไม่ต่างจากการมารับการฉีดสองครั้ง และเราจึงใช้วิธีการนี้มา 10 ปี และเมื่อ 2 ปีก่อน ได้รับการยอมรับจาก WHO และประกาศใช้ได้ทั่วโลก”
และหลังจากนั้นคุณหมอก็พยายามที่จะศึกษาวิจัยและทดลองต่อว่า การฉีดกระตุ้น 4 จุดในครั้งเดียวสามารถลดเหลือการฉีดเพียง 2 จุดได้และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้เช่นกัน จึงได้นำเสนอผลวิจัยในงานประชุมวิชาการเรื่อง “การป้องกันโรคด้วยวัคซีนใน 10 ประเทศกลุ่มอาเซียน” เพื่อบ่งบอกว่านี่เป็นการเริ่มต้นพัฒนาการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ดีขึ้นประหยัดค่าใช้จ่ายและสะดวกมากขึ้น และทางสถานเสาวภาก็ยังต้องทำการทดลองต่อเนื่องอีกหลายปีแต่เราก้าวไปไกลกว่านั้นคืออยากจะลดลงให้ได้กว่านี้อีก เพราะที่ผ่านมาเราพบปัญหาว่าการฉีด 4เข็ม สำหรับเด็กอาจจะไม่ไหว ซึ่งอาจจะต้องลดลงเป็น 2 หรือเข็มเดียวหากเป็นไปได้ทั้งนี้เชื่อว่าในอนาคตจะสามารถลดการฉีดกระตุ้นให้เหลือเพียง 1 เข็มได้
ศ.นพ.ธีระพงษ์ ฝากด้วยว่า อยากแนะนำคนที่มีปัจจัยเสี่ยงถูกสัตว์กัด เช่น เด็กเล็กมีสุนัขหน้าบ้าน คนที่ต้องผ่านย่านที่มีสุนัขจำนวนมาก คนที่อยู่ในวัดและมีสุนัขอาศัยอยู่มาก คนกลุ่มนี้ควรจะได้รับการฉีดแบบวัคซีนแบบป้องกันก่อนสัมผัสโรค ซึ่งใช้แค่ 3 เข็ม ไม่ต้องฉีดเซรุ่ม เพราะถ้าฉีดก่อนสัมผัสโรคไว้ก่อน เมื่อโดนสุนัขกัด ก็ไม่ต้องรับเซรุ่ม ไม่ต้องรับ 5 เข็ม แต่อาจจะรับแค่การฉีดกระตุ้น4 จุดในครั้งเดียว หรืออาจจะฉีดแบบวันแรกกับวันที่ 3 ซึ่งประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า
“ส่วนในกรณีที่ถูกสุนัขที่เคยได้รับฉีดวัคซีนกัด เราก็ต้องฉีดวัคซีนอยู่ดี เพราะการฉีดวัคซีนในสัตว์ไม่สามารถป้องกันโรคในสัตว์ได้ถึง100 เปอร์เซ็นต์และอีกอย่างโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่ทำให้เสียชีวิต ดังนั้นเราจึงต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันการเกิดโรคให้มาก หากถูกสุนัขกัดควรฉีดวัคซีน ไม่ควรละเลยเด็ดขาด”
ศ.นพ.ธีระพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในปี 2020 ประเทศไทยตั้งเป้าจะเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า แต่ก็ยังต้องใช้ความพยายามมากเพราะการควบคุมโรคในคนอาจเป็นไปได้ง่ายกว่าการปลอดโรคในสัตว์ ที่จะต้องมีขบวนการหลายอย่างและเราคงต้องใช้ความพยายามกันต่อไป