กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การเลือกตั้ง การปฏิรูปและรัฐประหาร” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27 – 28 พฤษภาคม 2558 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการเลือกตั้ง การปฏิรูป และรัฐประหาร อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อผลลัพธ์ของการทำรัฐประหารโดย คสช. เมื่อเปรียบเทียบกับผลลัพธ์ของการทำรัฐประหารครั้งก่อน (โดย คมช. ในปี 2549) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.28 ระบุว่า ผลลัพธ์การทำรัฐประหารโดย คสช. ดีกว่า เพราะ กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนและจริงจัง จัดระเบียบสังคมได้ดี เป็นการทำงานเพื่อประเทศ มิได้เป็นการแสวงหาเพื่อประโยชน์ส่วนตน ลดการสูญเสียที่จะตามมาอันเนื่องมาจากการชุมนุม มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม และดีกว่าตอนปี 2549 นอกจากนี้ คสช. ทำรัฐประหารโดยไม่มีการสูญเสียหรือสูญเสียน้อยกว่า อีกทั้งยังมีบทเรียนจากปี 2549 แล้ว ขณะที่ร้อยละ 18.08 ระบุว่า ผลลัพธ์การทำรัฐประหารโดย คสช. เหมือนกัน เพราะ เป็นการทำรัฐประหารและควบคุมอำนาจโดยทหารซึ่งต่างมีผลดีผลเสียพอ ๆ กัน ร้อยละ 7.20 ระบุว่า ผลลัพธ์ของการทำรัฐประหารโดย คสช. แย่กว่า เพราะ ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ คมช. ยึดอำนาจแค่ไม่กี่เดือนก็คืนอำนาจให้กับประชาชนแล้ว อีกทั้ง คมช. ยังให้สิทธิและเสรีภาพความเป็นอิสระในการแสดงความคิดเห็นมากกว่านี้ ร้อยละ 0.16 ระบุว่า ผลลัพธ์แย่ทั้งสองฝ่าย ไม่ควรมีการทำรัฐประหาร ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อประเทศชาติ และร้อยละ 3.28 ไม่ระบุ / ไม่สนใจ
ด้านความมั่นใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลชุดใหม่ ภายหลังการเลือกตั้ง ว่าจะสามารถเดินหน้ากระบวนการปฏิรูปประเทศต่อไปได้ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 19.12 ระบุว่า มีความมั่นใจมาก ร้อยละ 22.00 ระบุว่า ค่อนข้างมีความมั่นใจ ร้อยละ 31.28 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความมั่นใจ ร้อยละ 24.64 ระบุว่า ไม่มีความมั่นใจเลย และร้อยละ 2.96 ไม่ระบุ/ไม่สนใจ ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่าค่อนข้างมีความมั่นใจ – มีความมั่นใจมาก ให้เหตุผลว่า เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้ ได้วางรากฐานระบบการปฏิรูปไว้แล้วเป็นอย่างดี รัฐบาลชุดใหม่น่าจะสามารถสานต่อไปได้ ขณะที่ผู้ระบุว่าไม่ค่อยมีความมั่นใจ – ไม่มีความมั่นใจเลย ให้เหตุผลว่า ไม่มั่นใจในตัวนักการเมืองที่จะเข้ามาบริหารงาน ส่วนใหญ่ทำเพื่อประโยชน์ของตัวเองมากกว่า ถึงจะเป็นรัฐบาลชุดใหม่ก็ยังคงเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ปัญหาบางอย่างยังต้องการได้รับการแก้ไข ต่างฝ่ายต่างมีความคิดที่เป็นของตัวเองและมีความหลากหลาย
สำหรับความมั่นใจของประชาชนที่มีต่อประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ว่าจะไม่กลับไปสู่วังวนเดิมอีก คือ มีคนใช้อำนาจในทางที่ผิด มีความขัดแย้ง และการรัฐประหารโดยฝ่ายทหาร พบว่า ประชาชน ร้อยละ 12.40 ระบุว่า มีความมั่นใจมาก ร้อยละ 18.16 ระบุว่า ค่อนข้างมีความมั่นใจ ร้อยละ 35.36 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความมั่นใจ ร้อยละ 31.60 ระบุว่า ไม่มีความมั่นใจเลย ร้อยละ 2.48 ไม่ระบุ/ไม่สนใจ ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่าค่อนข้างมีความมั่นใจ – มีความมั่นใจมาก ให้เหตุผลว่า บ้านเมืองได้รับการแก้ไขและปฏิรูปในบางเรื่องไปบ้างแล้วปัญหาต่าง ๆ จึงน่าจะลดลง ขณะผู้ที่ระบุว่าไม่ค่อยมีความมั่นใจ – ไม่มีความมั่นใจเลย ให้เหตุผลว่า ยังมีการเลือกปฏิบัติต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน ยังคงมีความขัดแย้งภายใต้ความสงบอยู่ อีกทั้งรัฐบาลที่เข้ามาส่วนใหญ่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์มากกว่าทำเพื่อประเทศ รัฐบาลที่จะเข้ามาก็เหมือนเดิม เป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่สามารถแก้ไขได้เกิดเป็นวงจรเช่นนี้เรื่อยไป
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการเลือกตั้งและการปฏิรูปประเทศ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.56 ระบุว่า ควรมีการปฏิรูปให้เรียบร้อยก่อนการเลือกตั้ง เพราะ ระบบเก่าที่ผ่านมายังมีปัญหาต่าง ๆ ที่ควรได้รับการแก้ไขใหม่ เพื่อเป็นการวางแผนไว้ล่วงหน้า ควรมีการเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปประเทศให้มั่นคงก่อนเพื่อปูทางให้รัฐบาลชุดต่อไปสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นและลดปัญหาความขัดแย้งที่จะตามมา ควรปฏิรูปบ้านเมืองให้เรียบร้อยก่อนซึ่งการเลือกตั้งนั้นสามารถทำเมื่อไหร่ก็ได้ ขณะที่ ร้อยละ 24.00 ระบุว่า ควรมีการเลือกตั้งโดยเร็วก่อนแล้วค่อยให้รัฐบาลใหม่เดินหน้ากระบวนการปฏิรูปประเทศ เพราะควรเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับชาวต่างชาติ ควรมีรัฐบาลที่เป็นทางการก่อนแล้วให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาปฏิรูปประเทศ และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในภายหลัง ร้อยละ 1.84 ระบุว่า ควรทำควบคู่ไปพร้อมกันหรือทำอะไรก่อนก็ได้ แต่ไม่ว่าจะทำอะไรผลก็ออกมาเหมือนเดิม ร้อยละ 5.60 ไม่ระบุ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 16.32 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 17.84 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 18.16 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.52 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.16 ภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 56.56 เป็นเพศชาย ร้อยละ 43.36 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.08 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 6.96 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 18.88 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 25.44 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 38.32 มีอายุ 46 – 60 ปี ร้อยละ 9.84 มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป และร้อยละ 0.56 ไม่ระบุอายุ
ตัวอย่างร้อยละ 95.60 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.04 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.80 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.56 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 23.36 สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 74.00 สมรสแล้ว ตัวอย่างร้อยละ 2.00 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.64 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 26.80 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ตัวอย่างร้อยละ 29.12 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.88 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 28.08 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่าและตัวอย่างร้อยละ 6.32 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.80 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 13.76 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ตัวอย่างร้อยละ 13.76 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ตัวอย่าง ร้อยละ 27.68 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ตัวอย่าง ร้อยละ 17.20 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ตัวอย่างร้อยละ 14.80ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ตัวอย่างร้อยละ 9.68 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ตัวอย่างร้อยละ 2.56 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 0.56 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 9.84 ไม่มีรายได้ ตัวอย่าง ร้อยละ 23.84 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 ตัวอย่างร้อยละ 28.64 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเดือน 10,001 – 20,000 ตัวอย่างร้อยละ 14.56 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ตัวอย่างร้อยละ 8.40 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเดือน 30,001 – 40,000 ร้อยละ 8.16 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน มากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 6.56 ไม่ระบุรายได้