กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--กองเกษตรสารนิเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ผลจากการหารือร่วมกับคณะเจ้าหน้าที่จากอียูเข้ามาตรวจประเมินและเก็บข้อมูลสถานการณ์ดำเนินการในเรื่องการป้องกัน ยับยั้งและขจัดการทำประมงIUUของไทยเป็นครั้งแรก หลังจากการประกาศให้ใบเหลืองประเทศไทย ระหว่างวันที่ 11 – 21 พฤษภาคม 2558 ซึ่งประกอบด้วย คณะเจ้าหน้าที่เทคนิค และคณะเจรจาหารือ โดยเจ้าที่อียูได้ให้คำแนะนำถึงประเด็นที่เป็นใจความสำคัญ คือ 1. แผนการบริหารจัดการทรัพยากรประมงของไทยคือ ทำอย่างไรไม่ให้จับปลามากเกินไป ทั้งในอ่าวไทย ในทะเลอันดามัน และทะเลนอกอาณาเขตของประเทศไทย โดยขณะนี้ได้สั่งการให้กรมประมงดูว่าเครื่องมือที่เรามีอยู่ เรือที่เรามีเหมาะกับสภาพการจับ และทรัพยากรธรรมชาติที่เหลืออยู่หรือไม่อย่างไร เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการกำหนดแผนปฏิบัติการว่าเราต้องลดอะไรบ้าง รวมถึงมาตรการในการเยียวยาหากจะต้องมีการลดจำนวนเรือหรือเครื่องมือให้มีความเหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่
2. ความสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งนอกจากกระทรวงเกษตรฯ จะเร่งผลักดัน พ.ร.บ.ประมง ฉบับปรับปรุงใหม่ แล้ว แต่เพื่อให้ข้อบังคับมีผลครอบคลุมการแก้ไขปัญหาประมง ไอยูยู กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ. ประมง ขึ้นมาอีกหนึ่งฉบับซึ่งคาดว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้น่าจะแล้วเสร็จ โดยกฎหมายฉบับใหม่นี้ ถือเป็นการยกระดับการประมงของไทยให้เป็นสากล ซึ่งถือเป็นการปรับโครงสร้างการผลิตภาคประมงครั้งใหญ่ของประเทศ ขณะเดียวกัน ยังเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาไอยูยูโดยเฉพาะ อง ซึ่งในรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้นำแนวทางกฎหมายที่หลายๆ ประเทศมีอยู่มาปรับใช้ให้เหมาะกับประเทศไทยมากที่สุด และไม่ผิดหลักกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน
3 การดำเนินการในมาตรการต่าง ๆ เพื่อป้องกัน ยับยั้งการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นส่วนที่อียูให้ความพึงพอใจ และเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายหรือ ศปมผ. การติดตั้งระบบตรวจติดตามเรือ หรือ วีเอ็มเอส เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบการตรวจสอบย้อนกลับ การควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมงที่ท่า (Port in- Port out: PIPO) ระบบการติดตามตำแหน่งเรือ (Vessel Monitoring System : VMS) และการตรวจร่วมในทะเล เป็นต้น
4. ประเด็นความเกี่ยวโยงเรื่องค้ามนุษย์ ซึ่งแม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับIUU แต่ฝ่ายไทยจะเร่งหามาตรการป้องกันแรงงานประมงผิดกฎหมายไม่ให้ขี้นบนเรือ หรือข้อมูลแรงงานที่ไม่ตรงกับข้อมูลที่แจ้งทำให้เรือออกไม่ได้ ซึ่งในเร็วๆ นี้กระทรวงเกษตรฯ จะต้องเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ร่วมกัน
ทั้งหมดนี้แม้ว่าใน 6 เดือนนี้ไทยจะยังไม่สามารถทำให้อียูยกเลิกการให้ใบเหลืองแก่ไทยได้ แต่เชื่อว่าจะสามารถขยายระยะเวลาการให้ใบเหลืองของไทยออกไป ซึ่งระหว่างนี้ไทยจำเป็นจะต้องมีการเจรจาหารือกับทางอียูอย่างใกล้ชิด