ก.ล.ต. จับมือนิด้า เผยผลงานวิจัยความเสี่ยงของตลาดการเงินโลกและการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 2, 2015 14:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--ก.ล.ต. ก.ล.ต. เผยแพร่ผลงานวิจัยของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัด SEC Working Papers Forum ครั้งที่ 4/2558 ในหัวข้อ “ความเสี่ยงของตลาดการเงินโลกและการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ” ศึกษาความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ต่าง ๆ มีความเชื่อมโยงกันในภาวะวิกฤต และแนวทางการจัดสรรเงินลงทุนโดยที่การจัดสรรเงินลงทุนแต่เนิ่น ๆ มีโอกาสบรรลุเป้าหมายเกษียณอายุอย่างมีความสุข ก.ล.ต. ร่วมกับ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดสัมมนา SEC Working Papers Forum ครั้งที่ 4/2558 เผยแพร่ผลงานวิจัย 2 งาน ในหัวข้อ “ความเสี่ยงของตลาดการเงินโลกและการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ” ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามบันทึกความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. กับสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำ 4 แห่งเพื่อนำผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตลาดทุน ผศ. ดร. ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ ผู้วิจัย ในหัวข้อ “Determinants of Return and Volatility Spillovers in the International Equity Markets” เปิดเผยว่า การส่งผ่านความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ของประเทศต่าง ๆ สามารถอธิบายได้จากระดับความเสี่ยงในตลาดการเงินโลก ที่แทนด้วยดัชนีวัดความเสี่ยง (VIX index) และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (น้ำมันดิบ ทองคํา) รวมถึงส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ การเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างประเทศยังมีผลต่อการส่งผ่านความผันผวน โดยประเทศขนาดใหญ่ที่มีสัดส่วนการค้าในตลาดโลกสูง มีแนวโน้มที่จะ ส่งความผันผวนไปยังประเทศอื่นๆ ได้มากกว่า ขณะที่ประเทศที่มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สูง มีแนวโน้มที่จะได้รับความผันผวนจากประเทศอื่นได้ง่าย ทั้งนี้ ขนาดทุนสํารองระหว่างประเทศที่สูง ไม่มีผลต่อการป้องกันความผันผวนจากต่างประเทศ ผศ.ดร. ปริยดา สุขเจริญสิน ผู้วิจัยหัวข้อ “การจัดสรรการลงทุนเพื่อวัยเกษียณ” เปิดเผยว่า จากการศึกษากลุ่มผู้ลงทุนวัยทำงาน ในการจัดสรรสัดส่วนการลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมรับวัยเกษียณ โดยลงทุนในสินทรัพย์ 4 ประเภท ได้แก่หุ้นสามัญ พันธบัตร เงินฝาก และทองคำ แล้วคัดเลือกสัดส่วนการลงทุนเหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ ด้วยจำนวนเงินลงทุนน้อยที่สุด แต่มีโอกาสในการประสบความสำเร็จในการลงทุนสูงสุด ตามระยะเวลาการลงทุน และระยะเวลาที่คาดว่าจะดำรงชีวิตหลังเกษียณอายุ ผลการศึกษาระบุว่า ผู้วางแผนเกษียณอายุควรวางแผนตั้งแต่เนิ่น ๆ เนื่องจากยังมีระยะเวลาลงทุนอีกนาน มีความยืดหยุ่นในการจัดสรรเงินลงทุน สามารถเลือกลงทุนแต่ละงวดไม่ต้องสูงมาก นอกจากนี้ ยังมีโอกาสบรรลุเป้าหมายในการเกษียณอายุสูงกว่า โดยไม่ควรจำกัดการลงทุนแต่ในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำ เนื่องจากไม่สามารถเอาชนะอัตราเงินเฟ้อในระยะยาวได้ และควรจัดสรรการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มอัตราความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายเพื่อการเกษียณ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ