กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวว่า นอกจากวธ.จะดำเนินการประกาศยกย่องเชิดชูเป็นศิลปินแห่งชาติ ในแต่ละปีแล้ว ยังให้ความสำคัญกับศิลปินที่ความสามารถ มีผลงานอันทรงคุณค่าเป็นที่รู้จัก ซึ่งมีหลายท่านที่เป็นอาจารย์และได้สร้างแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นหลังดำเนินรอยตาม หากแต่ท่านเหล่านั้นได้ล่วงลับไปก่อนที่จะได้รับเกียรติยศใดๆ วธ.โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้ดำเนินโครงการยกย่องเชิดชูเกียรติ “บูรพศิลปิน” โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานชื่อเกียรติยศ “บูรพศิลปิน” อันมีความหมายว่า ศิลปินที่ควรแก่การเคารพยกย่องซึ่งล่วงลับไปแล้ว เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณให้สาธารณะเห็นความสำคัญในผลงานของศิลปินเหล่านั้น อันจะนำไปสู่การรัก หวงแหน และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไป
ด้านประธานคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคัดเลือกศิลปินผู้ล่วงลับ ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ กล่าวว่า “บูรพศิลปิน” ที่จะได้รับการย่องย่องมีคุณสมบัติดังนี้ มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด หรือถ้าเป็นต่างชาติ มีผลงานเผยแพร่เป็นที่ประจักษ์ในไทยและเสียชีวิตแล้ว และผลงานต้องมีประโยชน์ต่อสังคมและวัฒนธรรมของชาติ โดยมีเกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือก อาทิ เป็นผู้สร้างสรรค์ด้วยเชาว์ปัญญาทางศิลปะเฉพาะตน สามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึก และสุนทรียภาพทางศิลปะให้ปรากฏแก่สังคมอย่างต่อเนื่องในยุคสมัยนั้นๆ และเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง เป็นศิลปินชั้นครู ผู้ถ่ายทอดหรือแสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับมีคุณธรรม จริยธรรม ในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติ ทั้งในระดับชาติ หรือนานาชาติ และเป็นที่รัก เป็นกัลยาณมิตรที่ดีของประชาชน ด้วย
โดยในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ จะมีการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ “บูรพศิลปิน” ชุดแรก ในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นอกจากนี้ หลังจากการประกาศ
ยกย่องชุดแรกแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเสนอรายชื่อ “บูรพศิลปิน” ที่เป็นที่ชื่นชมของแต่ละคนเพิ่มเติมได้ โดยเสนอมาได้ที่ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม เลขที่ ๑๔ ถนนเทียมร่วมมิตร เขตห้วยขวาง กทม. ๑๐๓๑๐ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๗ ๐๐๑๓ ต่อ ๑๔๐๕ โทรสาร ๐ ๒๒๔๘ ๕๘๕๒ ม.ร.ว.จักรรถ กล่าว
และ นางสาวนันทิยา สว่างวุฒิธรรม อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม(สวธ.) ได้เปิดเผยว่า สวธ.ได้กำหนดแนวทางในการจัดงานประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินผู้ล่วงลับ โดยมีรายละเอียด ประกอบด้วย –นิทรรศการชีวประวัติและผลงาน -แผ่นทองเหลืองจารึกประวัติและผลงานไว้ในสถานที่ที่เหมาะสม เช่น ห้อง/หอเกียรติยศ เป็นต้น -การจัดกิจกรรมการยกย่องเชิดชูเกียรติ –จัดพิมพ์หนังสือที่ระลึก และเผยแพร่ชีวประวัติและผลงานในเว็บไซต์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม นอกจากนี้ ภายในงานยังมีพิธีสงฆ์ทำบุญเลี้ยงพระเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ “บูรพศิลปิน” ซึ่งจะเชิญทายาทของท่านเหล่านั้นมาร่วมงาน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมนี้ จะเป็นส่วนสำคัญของการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติไทยให้คงอยู่สืบไป