กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้รายงานผลการสำรวจสภาวการณ์การส่งเสริมการเรียนการสอนดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านของโรงเรียนต่างๆ จาก ๕๐ เขตในกรุงเทพมหานคร และ 76 จังหวัด ซึ่งมอบให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) สำรวจและเก็บข้อมูลจากสถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 16, 124 ราย เพื่อนำข้อมูลด้านต่างๆ มาวิเคราะห์ปัญหาและกำหนดแนวทางการสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนการสอนดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้าน เพราะดนตรีไทยเป็นสิ่งที่บรรพชนสร้างไว้และที่ผ่านมาเราโชคดีที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงอุปถัมภ์ค้ำชูดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านมาโดยตลอด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยและพระราชทานเครื่องดนตรีต่างๆ มากว่า 10 ปี
นายวีระ กล่าวต่อว่า จากการสำรวจพบว่า โรงเรียนต่างๆ มีครูจบการศึกษาด้านดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้าน ไม่เพียงพอ และมีครูจำนวนมาก มีความรู้และทักษะระดับพื้นฐานเบื้องต้นเท่านั้น ยังพบว่าสถานศึกษาจำนวนมากมีจำนวนเครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีพื้นบ้านไม่เพียงพอต่อการสอน และพบว่าพื้นที่ที่ต้องการได้รับการสนับสนุนเครื่องดนตรีจาก วธ. มากที่สุด มี 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก น่าน พิจิตร เพชรบูรณ์ และสุโขทัย และผลการสำรวจ พบว่าโรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ ต้องการให้ วธ. สนับสนุนด้านครูสอน ร้อยละ 26.33 งบประมาณจัดซื้อเครื่องดนตรี ร้อยละ 25.96 และฝึกอบรมพัฒนาทักษะครูสอน ร้อยละ 22.95 และจัดกิจกรรม/โครงการดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้าน ร้อยละ 22.34 ทั้งนี้ สวธ. ได้วิเคราะห์และสรุปว่า 1.การส่งเสริมการเรียนการสอนในสถานศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา เป็นช่วงชั้นเรียนที่มีการส่งเสริมมากที่สุด รองลงมาระดับมัธยมศึกษาและระดับชั้นอนุบาล โดยส่วนใหญ่เป็นสถานศึกษาสังกัดรัฐบาล เพราะมีการสอนเป็นไปตามหลักสูตรขั้นพื้นฐาน-บังคับ
รมว.วธ. กล่าวว่า 2.ความนิยมส่งเสริมการเรียนการสอนดนตรีไทยพบว่า วงเครื่องสาย ซึ่งเป็นวงดนตรีไทยที่ได้รับความนิยมมากที่สุด รองลงมา วงปี่พาทย์ ได้รับความนิยมมากในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร 3. ความนิยมส่งเสริมการเรียนดนตรีพื้นบ้านนั้นขึ้นอยู่กับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพื้นที่ภูมิภาคนั้นๆเช่น ภาคเหนือนิยม วงสะล้อ ซอ ซึงและวงกลองสะบัดชัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมวงโปงลาง ภาคกลางและภาคตะวันออก นิยมวงกลองยาว ภาคใต้ นิยมวงดีเกร์ฮูลูและวงมโนราห์ ส่วนกรุงเทพมหานคร นิยมวงกลองยาว อย่างไรก็ตามปัญหาที่แท้จริง ของการเรียนการสอนดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ คือ ขาดแคลนบุคลากรและครูผู้สอนงบประมาณจัดซื้อเครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีพื้นบาน รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นไม่เพียงพอต่อการสอน ตลอดจนการขาดการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นมอบให้ สวธ.นำผลสำรวจดังกล่าวไปจัดทำแผนและแนวทางสนับสนุนการเรียนการสอนสอนดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านให้ครอบคลุมทุกจังหวัด
“หลังจากช่วงที่ผ่านมา สวธ.จัดสรรงบประมาณสับสนุนการจัดซื้อเครื่องดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้าน รวมถึงอบรมครูผู้สอนดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้านมาแล้ว รวมถึงที่ผ่านมาได้คัดเลือกสถานศึกษาที่ส่งเสริมดนตรีไทยและดนตรีพื้นบ้าน มารับโล่และรางวัลเพื่อเป็นการให้กำลังใจและเป็นโรงเรียนต้นแบบ อย่างไรก็ตาม วธ.จะสนับสนุนเครื่องดนตรีไทย เครื่องดนตรีพื้นบ้านให้แก่โรงเรียนที่ยากไร้ที่ไม่มีเงินงบประมาณมาจัดซื้อ จากนั้นจะให้โรงเรียนได้ประชันดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน เพื่อให้นักเรียนได้สืบสานดนตรีจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป วธ.จะสนับสนุนดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน ทุกภูมิภาคอย่างเท่าเทียมกันไม่เจาะจงภูมิภาคไหนเป็นพิเศษ" นายวีระ กล่าว