กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
กล้วยไม้ เฮลิโคเนีย เอื้องหมายนา และดาหลา ตัวอย่างไม้ตัดดอกเขตร้อน อีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกของไทย นักวิจัย มจธ. ชี้ไทยมีศักยภาพในการผลิตสูง แต่งานวิจัยรองรับการพัฒนาคุณภาพยังน้อย ในขณะเพื่อนบ้านอาเซียนก็ปลูกได้ ถ้ายังอยากเป็นผู้นำการส่งออกเราต้องรีบพัฒนา
ไทยเป็นประเทศที่มีผลผลิตทางการเกษตรหลากหลายไม่ว่าจะเป็นข้าว ผัก ผลไม้ ที่สร้างมูลค่าจากการส่งออกได้อย่างมหาศาลในแต่ละปี ซึ่งมีการพัฒนาคุณภาพเพื่อการส่งออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันมีผลิตผลอย่างกล้วยไม้ และไม้ตัดดอกอีกหลายชนิดที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตเพื่อการส่งออกสูงแต่ยังมีงานวิจัยรองรับเรื่องคุณภาพอยู่น้อยมาก
ผศ.ดร.มัณฑนา บัวหนอง อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า จากองค์ความรู้ที่มีในเรื่องเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว และเห็นว่าในประเทศไทยมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ปลูกกล้วยไม้ และไม้ดอกเขตร้อน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ไทยสามารถผลิตได้จำนวนมากรองจากผลไม้ และข้าว แต่งานวิจัยที่จะมารองรับการพัฒนาคุณภาพเพื่อการส่งออกผลิตผลเหล่านี้ยังมีอยู่น้อยมากจึงให้ความสนใจในเรื่องนี้
“เราสามารถพูดได้ว่าไทยเป็น Hub ในการส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกเขตร้อน แต่สิ่งที่ต้องทำคือการทบทวนว่ามีคุณภาพดีพอหรือยัง เพราะตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่งเค้าก็ปลูกได้ส่งออกได้เหมือนกับเรา แต่ถ้าเรายังอยากเป็นผู้นำ สินค้าของเราก็ต้องมีคุณภาพได้มาตรฐาน”
ผศ.ดร.มัณฑนา กล่าวอีกว่า ไม่ว่าผัก ผลไม้ หรือไม้ดอกชนิดใดก็ตามเมื่อตัดออกจากต้นแม่แล้วจะไม่ได้รับสารอาหารซึ่งเป็นสาเหตุของการเหี่ยวเฉา จึงต้องมีการนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวเข้ามาช่วย เช่นเดียวกับบริษัทส่งออกรายใหญ่ในต่างประเทศก็มีการใช้สารส่งเสริมคุณภาพช่วยให้ผลผลิตคงความสดใหม่จนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค ซึ่งนั่นเป็นเคล็ดลับในการเพิ่มมูลค่า แต่สำหรับเกษตรกร หรือบริษัทส่งออกรายย่อยในบ้านเราคงไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายหากต้องสั่งซื้อสารเสริมคุณภาพราคาสูงเหล่านั้นมาใช้
“วัตถุประสงค์ของการใช้สารส่งเสริมกับไม้ตัดดอกมีอยู่ไม่กี่อย่างคือ เพื่อทำให้ดอกไม้สดนานขึ้น เพื่อทำให้ดอกไม้บานรับกับช่วงเวลาการวางจำหน่าย และปักแจกันได้นานขึ้น ซึ่งในบริษัทส่งออกใหญ่ๆ มีการใช้สารส่งเสริมคุณภาพกันอยู่แล้วซึ่งแต่มีราคาสูง เราจึงคิดที่จะพัฒนาสารส่งเสริมคุณภาพสำหรับไม้ตัดดอกทั่วไป แต่จะเน้นที่กล้วยไม้เป็นหลักเพราะเมืองไทยผลิตกล้วยไม้ได้เยอะซึ่งตอนนี้ก็ได้ผลสำเร็จในกล้วยไม้บางชนิด และกำลังพัฒนาต่อในกล้วยไม้แวนด้าจากที่ก่อนหน้านิยมขายกันเป็นต้นกล้วยไม้ แต่ตอนนี้แวนด้าก็สามารถตัดดอกขายได้แล้ว และกำลังพัฒนาสารเสริมที่สามารถช่วยยืดอายุการใช้งานของแวนด้าให้ได้มากกว่า 2 สัปดาห์เพื่อการส่งออก ส่วนไม้ตัดดอกเขตร้อนก็เช่นกัน มีจุดประสงค์เดียวกันคือวิจัยและพัฒนาสารเสริมคุณภาพขึ้นมาเพื่อเผยแพร่เทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรหรือบริษัทส่งออกรายย่อยในประเทศไทย เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากคุณภาพที่มากขึ้นได้”
พูดถึงสารส่งเสริมคุณภาพ ผศ.ดร.มัณฑนา เปิดเผยว่า ส่วนผสมหลักคือ น้ำตาลทรายขาวหรือน้ำตาลซูโครส เนื่องจากดอกไม้สามารถลำเลียงน้ำตาลซูโครสขึ้นไปสู่ตัวดอกได้ดีกว่า ซึ่งจะแตกตัวออกเป็นกลูโคส ใช้สำหรับเป็นสารตั้งต้นของการหายใจของพืชได้ อีกอย่างคือ สารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ เนื่องจากจุลินทรีย์สามารถปนเปื้อนมาตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บเกี่ยว และตัดปลายก้านดอก และเมื่อเชื้อเจริญในน้ำปักแจกันก็จะเกิดการอุดตันที่ท่อลำเลียงทำให้ดอกไม้ดูดน้ำไม่ได้และเหี่ยวเร็ว แต่ส่วนประกอบอีกอย่างที่จะต้องใส่เข้าไปนั้นเป็นตัวสำคัญ จะเป็นสารอะไร ความเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน ต้องมาวิเคราะห์กันอีกที ซึ่งต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดถึงชนิดและสายพันธุ์ของดอกไม้และสารที่เหมาะสมว่าควรใช้ระยะเวลาในการทรีทสารนานแค่ไหน เพื่อให้ดอกไม้มีคุณภาพดีตรงตามที่ผู้บริโภคต้องการ และส่วนจะยืดอายุไปได้อีกนานเท่าไหร่นั้นปัจจัยภายในและภายนอกของดอกไม้นั้นก็มีส่วน
ปัจจุบัน ผศ.ดร.มัณฑนา ได้ร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับจังหวัดสุราษฏ์ธานี เพื่อพัฒนาคุณภาพไม้ตัดดอกเขตร้อน อย่าง เฮลิโคเนีย เอื้องหมายนา และดาหลา แก้ปัญหาก้านเหลือง ใบเหลือง ซึ่งไม้ดอกเหล่านี้เป็นที่ต้องการมากใน รีสอร์ทและโรงแรมต่างๆ ในจังหวัดสุราษฏ์ธานี และภูเก็ต ดังนั้นถ้าสามารถยืดอายุให้ไม้ตัดดอกเหล่าได้อีกเพียง 2-3 วัน นอกจากจะได้ไม้ดอกคุณภาพดีแล้ว ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายไปได้อีกมาก