กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--TCELS
น.พ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงกรณี มีการพบเชื้อเมิร์ส-คอฟ ที่ประเทศเกาหลี ว่า เชื้อดังกล่าว มีต้นกำเนิดมาจากแถบตะวันออกกลาง ซึ่งนอกจากจะพบในค้างคาวแล้ว ยังพบแอนติบอดี้ในเลือดคืออูฐ จึงควรระวังการติดเชื้อผ่านทางน้ำมูลกน้ำลายของสัตว์มีหนอกชนิดนี้ด้วย ซึ่งขอเรียกให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า “ไข้หวัดอูฐ”
“ไข้หวัดอูฐต่างจากไข้หวัดธรรมดาอยู่ 3 ข้อหลักคือ 1.หลอกให้ตายใจในตอนแรกอาการแยกยากจากไข้หวัดธรรมดาอาจพาให้เราป่วยจนสายไปได้ 2.ทำร้ายปอด ไข้หวัดอูฐทำให้มีอาการปอดติดเชื้อ ไตวาย เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและระบบหายใจล้มเหลวได้ 3.จอดสนิท มีสิทธิถึงตายได้ในข้อมูลที่ผ่านมาพบมีผู้ติดเชื้อเสียชีวิตราว 30%”น.พ.กฤษดา กล่าว
ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์ฯ กล่าวว่า วิธีการป้องกันขณะนี้ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนออกมา ดังนั้นองค์การอนามัยโลก(WHO) จึงเน้นวิธีเฝ้าระวังและป้องกันตัวเองเป็นหลัก โดยขอสรุปเป็น 10 ทางออกคือ 1.ระวังอูฐ ท่านที่เดินทางไปตะวันออกกลางแล้วมีเหตุให้สัมผัสอูฐทั้งขี่อูฐ ถ่ายรูปกับอูฐหรือไปเยี่ยมชมอูฐ ขอให้ระวัง น้ำมูก น้ำลายและน้ำนมที่เป็นผลผลิตจากอูฐที่มีสิทธิปนเปื้อนเชื้อมาติดเราได้จำได้ว่าเคยเห็นในแถบตะวันออกกลางมีช็อคโกแลตนมอูฐจำหน่ายด้วย 2.จับตาโรงพยาบาล การป้องกันที่ดีอีกเรื่องคือเฝ้าระวังผู้ป่วยตั้งแต่ที่โรงพยาบาลเจ้าหน้าที่ต้องแม่นยำในอาการของโรคนี้โดยเฉพาะน้ำมูกกับเจ็บคอเพราะคล้ายกับหวัดธรรมดาและเริ่มแรกทีเดียวไม่จำเป็นต้องมีไข้
3.ถามอาการและประวัติ สิ่งที่ควรถามคือความเสี่ยงโดยประวัติการเดินทาง สำคัญมาก หากเคยเดินทางไปในประเทศที่เสี่ยงเชื้อโดยเฉพาะแถบตะวันออกกลางและประเทศที่มีรายงานการติดเชื้อและมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดหลังจากนั้นก็จะได้ระมัดระวังและแยกผู้มีประวัติไว้ก่อน 4.หวัดให้ห่าง เนื่องจากอาการหวัดอูฐช่วงแรกกับหวัดทั่วไปไม่ต่างกันแต่จะติดกันได้ถ้าอยู่ ใกล้ชิดกันมากเช่นนั่งคุยใกล้กัน ทำกิจกรรมในกลุ่มเดียวกันดังนั้นถ้าไม่แน่ใจขอให้เลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดที่เสี่ยงกับการได้รับสารคัดหลั่งจากการไอ จามและสั่งน้ำมูก 5.ล้างมือบ่อย ยังคงใช้ได้เสมอเพราะมือคือแหล่งพาเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพสูงการล้างมือจนเป็นนิสัยจึงมีส่วนช่วยได้มากนอกจากนั้นการทักทายก็สำคัญให้เลี่ยงทักทายแบบสัมผัสเช่นจับมือหรือกอดจูบถ้าไม่แน่ใจ
6.ไม่ปล่อยตัว กลุ่มคนพิเศษที่ต้องเฝ้าดูแลไม่ปล่อยตัวเองให้เสี่ยงได้แก่ ผู้สูงวัย เด็กเล็ก คุณแม่ตั้งครรภ์และมีโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน โรคปอด หัวใจ ไต ตับ มะเร็ง ภูมิไม่ดีและผู้ที่กินยากดภูมิคุ้มกัน 7.เสริมภูมิให้ดี การจะสู้กับโรคที่ยังไม่มียารักษาทางหนึ่งที่ดีคือ ทำตัวให้แข็งแรง ซึ่งทางหนึ่งของการเสริมภูมิกายให้เป็นภูมิแกร่งง่ายๆคือพักผ่อนให้พอ นอนไม่ดึกและถ้ามีโรคประจำตัวก็ขอให้คุมไว้ให้สงบดี8.หนีแหล่งคนเยอะที่ใดมีคนชุมนุมอยู่มากก็ย่อมมีสิทธิที่เชื้อโรคจะมาชุมนุมกันอย่างพร้อมเพรียงเช่นกันยิ่งกับโรคที่ติดง่ายผ่านความใกล้ชิดเช่นไข้หวัดอูฐการที่ต้องอยู่กับคนจำนวนมาก จึงเป็นความเสี่ยงหนึ่ง จึงควรเลี่ยงกิจกรรมในสถานที่คนเยอะโดยเฉพาะในประเทศที่มีไข้หวัดอูฐอยู่ 9.เลี่ยงสัมผัส การถูกเนื้อต้องตัวกันในบริเวณที่เสี่ยงได้รับสารคัดหลั่งจากคนป่วยเช่นฝ่ามือ,แก้มและตามตัวอาจติดโรคได้โดยเฉพาะหลังจากการไอ จามที่พาเชื้อผ่านน้ำมูก น้ำลายเข้ามาประปรายตามตัวโดยที่มองไม่เห็น ซึ่งการทักทายก็เป็นทางหนึ่งที่ติดได้โดยเฉพาะการจับมือหรือสวมกอดผิดกับการไหว้ซึ่งไม่ต้องสัมผัส 10.สังเกตหวัดไม่ธรรมดา ขออย่าลืมว่าหวัดอูฐไม่ได้น่าสะพรึงอย่างที่คิด เพียงแต่เราต้องรู้ให้ทันเท่านั้นโดยให้สังเกตจากอาการหวัดที่ดูไม่ธรรมดาอาทิ มีไอและหอบเหนื่อยปวดเมื่อยตัวช่วงหลังๆดูไม่สบายหนัก กว่าหวัดทั่วไปซึ่งถ้าสงสัยเชื้อเมิร์ส-คอฟไข้หวัดอูฐนี้ก็สามารถตรวจได้