กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
มทร.ธัญบุรี ตั้งโรงผลิตสารผสมอาหารที่ทำจากยิสต์สูตรเข้มข้นแทนผงชูรส มั่นใจปลอดภัยต่อสุขภาพ รุกจับมือเอกชนผลิตเชิงอุตสาหกรรมจำหน่ายทั้งในและนอกประเทศ "ประเสริฐ" ปลื้ม ภาคอุตสาหกรรมให้ความสนใจต่อยอดงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเพียบ
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากงานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรี ได้วิจัยใช้ยีสต์ที่เหลือจากกระบวนการผลิตเบียร์มาเป็นวัตถุดิบผลิตสารเสริมรสชาติอาหาร แทน“ผงชูรส” ได้สำเร็จนั้น ปรากฏว่าขณะนี้ได้มีบริษัทเอกชน ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร 2-3 ราย สนใจงานวิจัยดังกล่าว และได้มีความร่วมมือกับ มทร.ธัญบุรี จัดตั้งโรงงานสกัดยีสต์แทนผงชูรส เพื่อทำเป็นส่วนผสมของอาหารในเชิงธุรกิจ โดยเบื้องต้นได้กำหนดที่จะใหมีการสร้างโรงงานดังกล่าวขึ้นที่บริเวณด้านล่างของคณะวิทย์ฯ ใช้งบประมาณ 3-4 ล้านบาท ซึ่งทีมคณะผู้วิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ฯ จะได้มีการทำงานร่วมกับภาคเอกชนได้อย่างใกล้ชิด และนำส่วนผสมที่ได้จากการวิจัยไปขยายผลในเชิงธุรกิจต่อไป
อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ มทร.ธัญบุรี ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสนับสนุนในเรื่องของการคิดค้นงานวิจัยใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์กับสังคมและประเทศชาติ รวมถึงการนำงานวิจัยที่คิดค้นได้ไปต่อยอดในเชิงธุรกิจด้วยการขายงานวิจัยให้กับเอกชน เช่นเดียวกับงานวิจัยการใช้ยีสต์ที่เหลือจากกระบวนการผลิตเบียร์มาเป็นวัตถุดิบผลิตสารเสริมรสชาติอาหาร แทน“ผงชูรส” หลังตั้งโรงงานแล้วจะมีการวิจัยสกัดให้เป็นผงที่เข้มขัน ขายให้กับผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำผงสกัดเข้มข้นนี้ไปผสมเป็นบรรจุภัณฑ์ตามอัตราส่วนที่ต้องการก่อนนำไปวางจำหน่ายเป็นเชิงธุรกิจ ซึ่ง มทร.ธัญบุรีจะมีรายได้จากงานวิจัยส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งคือการที่ผู้ประกอบการจะให้เงินทุนกลับมา เพื่อมหาวิทยาลัยจะได้วิจัยต่อยอดตามความต้องการ ซึ่งจะทำให้งานวิจัยมีการขยายไปสู่สากลมากยิ่งขึ้น
"ปัจจุบันมีภาคเอกชนที่ต้องการหัวเชื้อสารเสริมรสชาติอาหารที่ทำจากยีสต์เป็นจำนวนมาก ดังนั้น มทร.ธัญบุรี จึงได้ตั้งโรงงานต้นแบบ โดยอุปกรณ์บางส่วนภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้สนับสนุน เมื่อโรงงานต้นแบบสามารถผลิต เช็คคุณภาพ และความเข้มขันตามความต้องการได้ ก็จะส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรม
นำงานวิจัยนี้ไปผลิตเพื่อออกจำหน่าย นอกจากนี้ยังวางแผนพัฒนาให้มีรูปแบบที่หลากหลายขึ้น ทั้งแบบก้อน ผง และน้ำ ซึ่งการผลิตสารเสริมรสชาติอาหาร แทนการใช้ผงชูรส จะไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และหากมีการผลิตได้เป็นจำนวนมาก เชื่อว่าจะสามารถส่งขายไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ เพราะประเทศเหล่านี้นิยมบริโภคผงชูรสมากกว่าคนไทย" รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวและว่า ขณะนี้งานวิจัยต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยดำเนินการ ได้รับความสนใจจากภาคเอกชนเป็นอย่างมาก โดยจะเห็นได้จากมีเอกชนได้ติดต่อให้มหาวิทยาลัยดำเนินการวิจัยในเรื่องต่างๆมากขึ้น อย่างไรก็ตามตนถือว่าการที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในงานวิจัยของ มทร.ธัญบุรี มากขึ้น จะช่วยทำให้งานวิจัยถูกต่อยอดออกไปสู่ตลาดที่กว้างขึ้น เพราะเกิดการพัฒนาและใช้ได้จริง เช่นเดียวกับงานวิจัยปุ๋ยชีวภาพ เอกชนได้มีการสั่งซื้อหัวเชื้อ และนำไปผสมออกจำหน่าย ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี.