กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
เมื่อเร็วๆ นี้ที่ห้องประชุมแมนดารินแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแมนดาริน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้จัดการประชุมพัฒนาการขับเคลื่อนการปฏิบัติการฉุกเฉินระดับพื้นที่ ประจำปีพ.ศ. 2558
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวว่า ปัจจุบันนี้การดำเนินงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินในระดับพื้นที่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยมีแกนหลักที่สำคัญในการในการขับเคลื่อนจากผู้รับผิดชอบงานหลักของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัดทุกจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดของบางจังหวัด สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่ประสานและผลักดันงานในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง อย่างไรก็ตามการพัฒนาดังกล่าวยังมีความจำเป็นต้องมีการขยายความก้าวหน้าสู่การพัฒนาที่ครอบคลุมทุกมิติให้มากขึ้น จึงได้จัดประชุมครั้งนี้ขึ้นเพื่อสร้างสัมพันธภาพการประสานความร่วมมือระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกับเครือข่ายกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้รับทราบข้อมูลและร่วมแสดงความคิดเห็นในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้การปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินในทุกพื้นที่มีการพัฒนาทั้งในด้านคุณภาพและความครอบคลุมของการให้บริการประชาชนยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ภายในงานได้มีการจัดการเสวนาเรื่องการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินที่ควรจะเป็นในอนาคต โดยนพ.ไพศาล ธัญญาวินิชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า หากจะมองการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในอนาคตนั้นเราจะมุ่งเน้นไปในเรื่องการทำงานในระดับพื้นที่ ซึ่งเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การบริหารจัดการในระดับพื้นที่และความเท่าเทียมในการให้บริการในระดับพื้นที่ยังมีความแตกต่างกันมาก โดยปัญหาที่ทำให้เกิดความแตกต่างมีหลายส่วนไม่ว่าจะเป็นในเรื่องช่องว่างทางกฎหมายที่ไม่ได้ระบุในเรื่องการบริหารจัดการในพื้นที่ให้ชัดเจน โดยการทำงานที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพนั้นจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องขององค์กรที่จะต้องรับผิดชอบในแต่ละหน้าที่ในแต่ละพื้นที่จึงจะทำให้เอกภาพในการทำงานที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ตนมองว่าจะต้องมีการระบุให้การให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินนั้นเรื่องจำเป็นยิ่งของการทำงานของภาครัฐ และกระจายอำนาจลงไปสู่พื้นที่ระดับเขตเพื่อทำให้เกิดการตัดสินใจที่เหมาะสมกับปัญหาของแต่ละพื้นที่ได้
ด้านดร.วิโรจน์ เซมรัมย์ ตัวแทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ตนมองว่าการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินที่ควรจะเป็นในอนาคต นั้น จะต้องมีการรวมหมายเลขในการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินและเรื่องฉุกเฉินทุกเรื่องเป็นเบอร์เดียว โดยจะกำหนดให้เป็นเบอร์ไหนก็ได้ที่เป็นสากลและประชาชนจำได้ง่าย นอกจากนี้แล้วจะต้องมีการบูรนาการการทำงานทั้งภาครัฐและท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะมีหน้าที่เพียงแค่ควบคุมคุณภาพมาตรฐาน การบริการ และเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ให้กับในพื้นที่ ส่วนหน้าที่บูรนาการในการทำงานควรให้อำนาจหน้าที่ท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้ ซึ่งหากสามารถวางแผนการดำเนินการแบบนี้จะทำให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินในอนาคตของระดับพื้นที่นั้นยั่งยืนได้