TCELS หนุน BART LAB วิศวะ ม.มหิดล ส่งหุ่นยนต์กู้ภัย แข่งขัน World RoboCup 2015 ที่ประเทศจีน มั่นใจปักธงไทยแดนมังกรได้แน่นอน

ข่าวเทคโนโลยี Thursday June 4, 2015 13:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) สนับสนุนงบประมาณ ศูนย์เครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ (BART LAB) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเข้าร่วมการแข่งหุ่นยนต์ระดับโลก World RoboCup 2015 ระหว่างวันที่ 17-23 กรกฎาคม 2558 ณ เมือง เหอเฟย์ ประเทศจีน โดยมั่นใจว่าทีมผู้เข้าแข่งขันจะคว้าชัยชนะมาได้อย่างแน่นอน โดยมีรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน RoboCup Japan Open ถึง 2 ปีซ้อน และรางวัลระดับนานาชาติอีกหลายรางวัลเป็นตัวการันตี ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า TCELS ดำเนินโครงการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาคอาเซียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพสามารถออกสู่ตลาดให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยหนึ่งในกิจกรรมที่ TCELS ได้ดำเนินการตามแผนการปฏิบัติการคือ การสนับสนุนการเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก “World RoboCup 2015” “TCELS เล็งเห็นความสำคัญว่าการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกดังกล่าว เนื่องจากเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้บุคลากร นิสิต นักศึกษา ในสถาบันการศึกษาของประเทศไทย ได้แสดงศักยภาพในการพัฒนาหุ่นยนต์กู้ภัย ซึ่งเป็นวัฏจักรกระบวนการพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ สอดคล้องกับนโยบายของ TCELS ที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ไปสู่ธุรกิจและอุตสาหกรรมระดับประเทศได้” ดร.นเรศ กล่าว รศ.ดร. กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่ามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งในเรื่องของงานวิจัย โดยเน้นนำความรู้ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ให้เกิดขึ้นจริงสำหรับสังคม สำหรับในส่วนของงานพัฒนาสร้างสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรม เช่น งานวิจัยทางด้านหุ่นยนต์ ก็เป็นงานวิจัยที่มีศักยภาพที่จะนำไปสู่การใช้งานจริงจากการประยุกต์ใช้งานในด้านต่างๆ ซึ่งหุ่นยนต์กู้ภัยของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ ก็ได้มีการพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี ทั้งด้วยวัตถุประสงค์ในเชิงการวิจัยและพัฒนา การเข้าร่วมการแข่งขันเพื่อสร้างชื่อเสียง และเป็นตัวชี้วัดให้เห็นถึงความสามารถของการสร้างผลงาน ของทั้งนักศึกษา นักวิจัย และคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อที่จะเข้าไปแข่งขันและเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก ทั้งนี้นอกจากการแข่งขันแล้ว หุ่นยนต์กู้ภัยยังมีคุณสมบัติเพื่อที่จะช่วยผู้ที่ได้รับภัยพิบัติ ดังเช่นเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเนปาล เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หุ่นยนต์กู้ภัยน่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถร่วมกับหน่วยกู้ภัยในการค้นหาผู้รอดชีวิต ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการค้นหาผู้รอดชีวิตให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ หัวหน้าศูนย์เครือข่ายวิจัยประยุกต์ทางเทคโนโลยีหุ่นยนต์และชีวการแพทย์ และอาจารย์ที่ปรึกษาทีมหุ่นยนต์กู้ภัยBART LAB กล่าวว่า หุ่นยนต์กู้ภัย จัดได้ว่าเป็นหุ่นยนต์ทางการแพทย์ประเภทหนึ่งที่จะใช้ในการช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ ดังเช่นในเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในประเทศเนปาล มีอาคารบ้านเรือนที่ถล่มพังเสียหาย มีผู้ประสบภัยติดอยู่ในตัวอาคาร ซึ่งอาจมีผู้รอดชีวิตในอยู่ในนั้น จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยกู้ภัย ในการเข้าไปค้นหา ทั้งนี้การส่งหน่วยกู้ภัยเข้าไปทันทีอาจจะได้รับอันตรายซึ่งเกิดจากการพังซ้ำของอาคารเหล่านั้น ดังนั้นการใช้หุ่นยนต์กู้ภัยเข้าไปค้นหาผู้เคราะห์ร้าย จะเป็นการช่วยเหลือทีมหน่วยกู้ภัยให้สามารถเข้าถึงผู้เคราะห์ร้ายได้อย่างแม่นยำและปลอดภัย โดยหุ่นยนต์กู้ภัยจะถูกติดตั้งด้วยระบบตรวจจับค้นหาผู้รอดชีวิต ได้แก่การตรวจวัดสัญญาณชีพต่างๆ เช่น สัญญาณความร้อน สัญญาณวัดการหายใจ สัญญาณภาพและเสียง ที่สามารถพูดโต้ตอบกับผู้บังคับภายนอกผ่านทางหุ่นยนต์กู้ภัยนี้ ทั้งนี้การแข่งขัน World RoboCup ประเภทหุ่นยนต์กู้ภัย เป็นการแข่งขันที่ออกแบบมาจากการศึกษาและวิจัยระบบการทดสอบมาตรฐานหุ่นยนต์ ซึ่งมีความเป็นมาและมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยจุดประสงค์หลักของการแข่งขันเพื่อเป็นการร่วมมือ ช่วยกันแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีความรู้ ในการพัฒนาหุ่นยนต์กู้ภัย โดยในแต่ละปีมีการปรับกติกา เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการเข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยในรายการแข่งขัน World RoboCup จึงเน้นเรื่องของการพัฒนาหุ่นยนต์ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน เพื่อให้หุ่นยนต์มีทั้งประสิทธิภาพ และความมั่นใจเชื่อถือได้ในการใช้งาน นอกเหนือจากนี้การแข่งขันยังเป็นแรงกระตุ้นและแรงบรรดาลใจให้ทุกคน อยากจะนำความรู้ความสามารถมาแลกเปลี่ยนร่วมกัน โดยเป้าประสงค์ที่ปลายทางก็คือการพัฒนาหุ่นยนต์กู้ภัยสู่การนำไปใช้งานได้จริง ทั้งนี้หุ่นยนต์กู้ภัยของทีม BART LAB เคยได้เข้าร่วมในสถานการณ์จริง ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 11-12 สิงหาคม 2557 ในเหตุการณ์งานก่อสร้างคอนโดย่านปทุมธานี ได้ถล่มลงมา ซึ่งเราได้นำความรู้จากประสบการณ์นี้มาปรับปรุงพัฒนาหุ่นยนต์ เพื่อโอกาสในการที่จะได้เข้าไปใช้งานจริงร่วมกับหน่วยงานกู้ภัยต่างๆ ต่อไป ทั้งในและต่างประเทศ นายสกล นาคธรรมาภรณ์ นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหัวหน้าทีมหุ่นยนต์กู้ภัยBART LAB กล่าวถึงทีมนักศึกษาและผู้ช่วยวิจัยจากศูนย์ BART LAB ได้ร่วมกันพัฒนาหุ่นยนต์กู้ภัยเพื่อเข้าร่วมในการแข่งขันอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ทำให้เป็นการแลกเปลี่ยน และรวบรวมประสบการณ์ซึ่งสมาชิกแต่ละท่านมีความสามารถเฉพาะด้าน มาร่วมกันทำงานอย่างเป็นการบูรณาการ ทำให้ทีมมีความเข้มแข็งและสามารถเข้าร่วมแข่งขันในเวทีการแข่งขันนานาชาติได้ตลอดมา ซึ่งตัวอย่างผลลัพธ์ที่ผ่านมาก็คือการได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่นถึง 2 สมัย ทำให้เราได้นำประสบการณ์มาพัฒนาความสามารถและการแลกเปลี่ยนความรู้กับทีมหุ่นยนต์จากนานาประเทศ ได้เรียนรู้และเกิดการสร้างเครือข่ายความรู้และเป็นพันธมิตรที่ดีกันในการร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีในระดับโลก “ทีมมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการไปแข่งขันครั้งนี้ เราจะได้นำความรู้กลับมาพัฒนาหุ่นยนต์โดยที่จะสามารถใช้หุ่นยนต์กู้ภัยในการใช้งานจริงได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ขอกำลังใจจากทุกๆ คน ที่ประเทศไทย ได้ช่วยสนับสนุนและให้กำลังใจพวกเราไปเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งเรามีความคาดหวังว่า เราจะสามารถนำรางวัลในระดับโลกกลับมาให้เพื่อนพี่น้องชาวไทย ได้มีความภาคภูมิใจร่วมกัน ทั้งนี้ผมขอขอบคุณผู้สนับสนุน หน่วยงาน TCELS ที่ให้โอกาสเยาวชนไทยเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยี ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติและเป็นไปอย่างยั่งยืน สำหรับการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย World RoboCup ในแต่ละปี จะมีผู้เข้าร่วมแข่งขันไม่น้อยกว่า 400 ทีม จาก 30 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน ไทย เป็นต้น โดยในปีนี้ BART LAB ส่งหุ่นยนต์เข้าแข่งขัน ในรายการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย “Rescue Robot League” จำนวน 2 ประเภทได้แก่ หุ่นยนต์กู้ภัยแบบไร้สายมีผู้ควบคุมระยะไกล และหุ่นยนต์กู้ภัยแบบไร้สายทำงานอัตโนมัติ โดยได้พัฒนาให้สามารถค้นหาผู้รอดชีวิต หรือผู้ประสบภัยตกค้างอยู่ในซากปรักหักพังต่าง ๆ ในสถานการณ์ของการเกิดภัยพิบัติ เช่น อัคคีภัย อุทกภัย ภัยจากแผ่นดินไหว ซึ่งในการแข่งขันจะใช้หลักการนี้จำลองสถานการณ์ของการเกิดภัยพิบัติ เพื่อโชว์ความสามารถของหุ่นยนต์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ