กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเมืองอย่างยั่งยืน รับวันสิ่งแวดล้อมโลก พร้อมผุด 3 ไอเดียสถาปัตยกรรมเพื่อผู้ใช้จักรยานฝีมือนักศึกษา ได้แก่ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้จักรยานสุวรรณภูมิ พื้นที่พัฒนาความรู้ผู้ใช้จักรยาน ผ่านการแสดงนิทรรศการ และการอบรม ศูนย์ผู้ใช้จักรยานกรุงเทพมหานคร ฮับใหม่ของนักปั่นจักรยาน จอดได้กว่า 2,700 คัน เชื่อมต่อทุกเส้นทางขนส่งสาธารณะ และสนามกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย สนามกีฬาจักรยานไทยที่มีมาตรฐานทัดเทียมในระดับนานาชาติเพื่อรองรับกลุ่มผู้ใช้จักรยานที่มีศักยภาพในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ พร้อมเสนอการพัฒนาระบบจักรยานที่ดีเพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้จักรยานผ่าน 3 ขั้นตอน ดังนี้
1) การศึกษาปัญหา และความต้องการของผู้ใช้จักรยานอย่างแท้จริง
2) การจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาระบบจักรยาน
3) เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้จักรยานกว่า 2 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ใช้จักรยานในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ประมาณ 150,000 คน และเป็นผู้ใช้จักรยานเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวประมาณ 260,000 คน และในอนาคตจำนวนผู้ใช้จักรยานน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดี สจล. ก็ได้มีการจัดกิจกรรม และโครงการวิจัยต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกมากมาย อาทิ การพัฒนาต้นแบบอาคารประหยัดพลังงาน การวิจัยเครื่องรับขยะเพื่อการรีไซเคิลอัตโนมัติเพื่อการจัดการขยะชุมชนในประเทศไทย การพัฒนารถเข็นผลิตพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเปิดทดสอบเส้นทางนำร่องรถเมล์ไฟฟ้า สจล. – แอร์พอร์ตลิงค์สถานีลาดกระบัง ซึ่งสอดคล้องภายใต้แนวคิด “รากฐานนวัตกรรมสร้างชาติ: The Nation of Innovation” ในการเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศไทย
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th
ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา อาจารย์ประจำกลุ่มวิชาการวางแผนภาคและเมือง สาขาวิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ปัจจุบันเทรนด์ของการรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นกระแสสังคมที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งสิ่งหนึ่งที่สะท้อนกระแสดังกล่าว คือการปั่นจักรยาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้สำหรับการเดินทาง การท่องเที่ยว การออกกำลังกาย หรือในชีวิตประจำวัน จนกลายเป็นกิจกรรมที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป โดยการปั่นจักรยานนอกจากจะช่วยลดการใช้พลังงานน้ำมัน และมลพิษทางอากาศแล้ว ก็ยังช่วยเสริมสร้างให้ผู้ใช้จักรยานมีสุขภาพที่ดี ทั้งร่างกายและจิตใจ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้จักรยานกว่า 2 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ใช้จักรยานในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ประมาณ 150,000 คน และเป็นผู้ใช้จักรยานเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวประมาณ 260,000 คน และในอนาคตจำนวนผู้ใช้จักรยานน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนากรุงเทพฯให้เป็นเมืองสีเขียว นอกจากนี้การปั่นจักรยานก็ยังมีส่วนช่วยในการบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดจากการใช้รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ที่มีจำนวนกว่า 7 ล้านคันทั่วกรุงเทพฯเป็นการเพิ่มทางเลือกในการสัญจร การปั่นจักรยานไปทำงานประมาณ 6.5 กิโลเมตรต่อวันยังจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 900 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งหากเราลองศึกษาเมืองหลวงที่มีความเป็นมิตรกับการขี่จักรยาน (Bicycle-Friendly) มากที่สุดในโลกอย่างกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ซึ่ง 40 เปอร์เซ็นต์ของการเดินทางในเมืองหลวงเป็นการเดินทางโดยใช้จักรยาน จะพบว่าภายในตัวเมืองอัมสเตอร์ดัมจะมีโครงข่ายเส้นทางจักรยานสิ่งอำนวยความสะดวกในการจักรยาน และมีการสร้างที่จอดรถจักรยานขนาดใหญ่ในย่านสำคัญของเมือง และบริเวณสถานีรถไฟหลักของเมืองอีกด้วย หรืออย่างกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ที่มีการทำถนนพื้นเรียบรองรับการเดินทางด้วยจักรยานเป็นระยะทางกว่า 1.2 ล้าน กิโลเมตรต่อวัน อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมสนับสนุนให้ใช้รถจักรยานประจำเมือง ด้วยการอนุญาตให้มีการเช่ารถจักรยานสาธารณะได้ฟรี โดยผู้เช่าเสียเพียงค่ามัดจำเท่านั้น รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการสนับสนุนการใช้จักรยาน เช่น ไฟสะท้อนแสงบนผิวทาง ป้ายสัญญาณจราจร เครื่องนับจำนวนจักรยาน เป็นต้น ในขณะที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน และมีทางจักรยานอยู่รอบเมือง และมีฮับสำหรับให้เช่าจักรยานกว่า 110 แห่ง อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
ดร.ประพัทธ์พงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจะพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองจักรยานได้นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการอบรม ให้ความรู้แก่ทั้งผู้ใช้จักรยานและผู้ใช้รถใช้ถนนในเรื่องของกฎจราจร และการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยตลอดจนพัฒนาสิ่งก่อสร้างที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้จักรยานอย่างตรงจุด อย่างไรก็ตาม การผลักดันกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองของผู้ใช้จักรยานได้นั้นจำเป็นจะต้องใช้เวลา และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เนื่องจากในปัจจุบัน ประเทศไทยยังขาดการพัฒนาระบบจักรยานที่ดี สภาพพื้นผิวทางที่ไม่เหมาะสมในการขับขี่ จึงไม่สามารถรองรับความต้องการของผู้ใช้จักรยานได้ ในขณะที่ผู้ใช้จักรยานก็ขาดความเข้าใจและตระหนักถึง กฎระเบียบการใช้ท้องถนน และการขี่จักรยานให้ปลอดภัย ส่วนผู้ใช้รถใช้ถนนยังไม่เคยเปิดโอกาสและเปิดใจรับรู้ว่าจักรยานสามารถเป็นพาหนะหนึ่งที่สามารถใช้สัญจรในกรุงเทพฯ ได้จนหลายครั้งก่อให้เกิดเป็นอุบัติเหตุที่เราเห็นได้ตามข่าวหนังสือพิมพ์รายวัน ทั้งนี้ สำหรับการเริ่มต้นพัฒนากรุงเทพฯ ไปสู่การเป็นเมืองจักรยานควรดำเนินการตาม 3 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ศึกษาถึงปัญหา และความต้องการของผู้ใช้จักรยาน รวมไปถึงพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาระบบจักรยาน โดยเฉพาะในเขตชุมชนที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นสถานที่ที่มักจะมีคนใช้จักรยานในการดำเนินชีวิตประจำวันอยู่เป็นจำนวนมาก
2. จัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาระบบจักรยานโดยเน้นความปลอดภัย ความสะดวกและความสบายในการใช้งาน โดยที่แผนแม่บทจะเป็นเหมือนแนวทางการพัฒนาระบบจักรยานที่เห็นเป็นโครงร่างชัดเจน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ ลดงบประมาณ และเวลาในการทำงานที่ซ้ำซ้อนของหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบโครงการอันเกี่ยวเนื่องกัน
3. เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งก่อน – ระหว่าง – หลัง จากการทำแผนแม่บท นำทุกความคิดเห็นมาปรับใช้ในการพัฒนาทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้เมืองจักรยานที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนส่วนใหญ่ให้ได้มากที่สุด
ด้าน นายจิรวรรธ รุ่งกิติโยธิน นักศึกษาสาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 เจ้าของผลงานศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้จักรยานสุวรรณภูมิ กล่าวว่า ในสังคมไทยปัจจุบัน การใช้จักรยานในชีวิตประจำวันมีความนิยมที่สูงมากขึ้นแต่สิ่งที่ตามมาหลังจากการที่มีจำนวนผู้ใช้จักรยานสูงมากขึ้น ก็คงจะเป็นเรื่องโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุระหว่างจักรยาน หรือปัญหาความไม่เข้าใจกันของผู้ใช้ยานพาหนะบนท้องถนนร่วมกัน อันจะก่อให้เกิดเป็นทัศนคติที่ไม่ดีต่อกันของผู้ใช้จักรยานกับผู้ใช้รถยนต์ ซึ่งปัญหาต่างๆเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไข ด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ที่ใช้จักรยาน และผู้ที่ไม่ได้ใช้จักรยาน ให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยโครงการศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ จักรยานสุวรรณภูมิ มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ผ่านการให้ความรู้เชิงนิทรรศการ และการฝึกอบรม 3 รูปแบบคือให้ความรู้เชิงทฤษฎีที่เกี่ยวกับข้อดี และข้อเสียของจักรยาน บอกเล่าถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม แลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนคติของผู้ปั่นและผู้ที่ไม่ได้ปั่นจักรยาน ในส่วนที่ 2 คือ ฝึกอบรมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพกาย สำหรับผู้ใช้จักรยาน และในส่วนที่ 3 คือการจำลองเมืองปั่นจักรยานให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้สัมผัสถึงเหตุการณ์ต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นในได้ในชีวิตจริง เพื่อให้รับรู้ถึงปัญหา และวิธีการแก้ไขนอกจากนี้ก็ยังมีในส่วนของพื้นที่ให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่เดินทางมาใช้บริการของสนามปั่นจักรยานสุวรรณภูมิ เพื่อเป็นการส่งเสริม และเป็นพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการใช้จักรยานของผู้ใช้จักรยานในทุกๆ วัยได้เป็นอย่างดี
นายปกรณ์พรรธน์ เจริญพันธ์ นักศึกษาสาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 เจ้าของผลงานศูนย์ผู้ใช้จักรยานกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพฯ และเมืองต่างๆ ยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะมารองรับความต้องการของผู้ใช้จักรยานที่มีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ในขณะเดียวกันการคมนาคมของกรุงเทพฯก็ยังมีช่องโหว่ของระบบอยู่มากพอสมควร โดยบางแห่งยังไม่มีการเชื่อมต่อที่ทั่วถึงกันของการขนส่งสาธารณะ รวมไปถึงการมีปัญหาการจราจรติดขัด จึงได้เกิดเป็นไอเดียในการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อเป็นจุดเชื่อมต่อการสัญจรระหว่างการใช้จักรยาน และการใช้ระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะเข้าด้วยกัน ผ่านโครงการศูนย์ผู้ใช้จักรยานกรุงเทพมหานคร โดยมีแนวความคิดของโครงการที่เน้นความเป็นอาคารประเภท “PARK & RIDE” และ “URBAN SPACE” เป็นหลัก ซึ่งจะเกิดปฏิสัมพันธ์ต่อผู้คนที่เข้ามาใช้ ทั้งผู้ใช้จักรยาน และผู้คนทั่วไปที่เข้ามาใช้โครงการ และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ทั้งสองประเภท มีพื้นที่ลานขนาดใหญ่กลางอาคารที่เป็นพื้นที่กิจกรรมสำหรับผู้ใช้อาคารต่างๆ เช่น นิทรรศการ การพบปะพูดคุยต่างๆ ของผู้คนในระดับเมือง และมีอาคารจอดจักรยานขนาดใหญ่ซึ่งสามารถจอดจักรยานได้ทั้งหมด 2,720 คัน ในลักษณะการออกแบบให้สามารถจอดซ้อนคันในแนวตั้ง และยังมีระบบรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง ภายในเขตพื้นที่ภายในรัศมี 10 กิโลเมตร อีกทั้งยังใกล้กับจุดเชื่อมต่อการขนส่งสาธารณะหลายทางเลือกทั้ง รถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน และโดยสารสาธารณะ ตอบสนองแก่ผู้ใช้จักรยานในบริเวณนั้นที่ใช้จักรยานมาจอดพักที่โครงการและเดินทางต่อโดยใช้ระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะต่างๆต่อไป โดยโครงการจะตั้งอยู่ในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณถนนเพชรบุรีด้านข้างของตลาดนัดสวนจตุจักร ซึ่งเป็นทำเลศักยภาพใกล้ศูนย์การค้า และมีความหนาแน่นของผู้คนมากมายที่จะสามารถทำให้โครงการประสบความสำเร็จ
นายอิศเรศ สุวรรณณัฐวิภา นักศึกษาสาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 5 เจ้าของผลงานสนามกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ตื่นตัวในการสนับสนุนส่งเสริม และพัฒนากีฬาจักรยานกันมากขึ้น เพราะนอกจากการเสริมสร้างสุขภาพประชากรให้มีสุขภาพดี และช่วยลดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการสร้างชื่อเสียงเกียรติยศให้กับประเทศชาติอีกด้วย โดยประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่หันมาส่งเสริมด้านกีฬาจักรยานโดยมีการจัดการ แข่งขันทั้งในประเทศ และระดับสากลอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการเข้าร่วมกีฬาต่างๆ เช่น โอลิมปิก เอเชี่ยนเกมส์ เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับกีฬาจักรยานเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ดี ในปี พ.ศ.2557 ประเทศไทยมีสนามกีฬาจักรยานลู่ทั้งหมด 4 สนามคือ สนามกีฬาหัวหมาก สนามโรงเรียนกีฬาสุพรรณบุรี สนามกีฬา 700 ปี เชียงใหม่ และสนามเวโลโดมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา นครราชสีมา ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสนามกีฬากลางแจ้ง และยังไม่เป็นสนามแบบนานาชาติ โดยสนามกีฬาจักรยานลู่ตามมาตรฐานระดับนานาชาติ ที่กำหนดโดยสหพันจักรยานนานาชาติ (Union Cyclist International หรือ UCI) ในเบื้องต้น จะต้องเป็นสนามระบบปิด ที่มีความยาวสนาม 250 เมตร และมี 3000-5000 ที่นั่ง ทั้งนี้ จึงนำเสนอให้มีโครงการสนามกีฬาจักรยานโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองให้แก่ผู้ที่มีความสนใจด้านกีฬาจักรยานเพื่อการเพิ่มทักษะ การออกกำลังกาย และแข่งขันในระดับต่างๆ ที่มีอัฒจันทร์สำหรับผู้ชม 3,000 ที่นั่งตามมาตรฐาน ลู่จักรยานแบบสากลแห่งแรกของประเทศไทย พร้อมศูนย์อบรมฝึกซ้อม จัดนิทรรศการ ให้ความรู้ และคำปรึกษาที่ถูกต้องเกี่ยวกับกีฬาจักรยาน ตลอดจนเป็นพื้นทีพักผ่อนของประชาชนที่มีความสนใจอีกด้วย
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รักษาการแทนอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. ในฐานะสถาบันชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนาน ได้เล็งเห็นศักยภาพของกรุงเทพฯ และประเทศไทยในการพัฒนาไปสู่แนวคิดการเป็นเมืองสีเขียว (Green City) ที่มีหลักสำคัญในการพัฒนาเมือง และวิถีการดำเนินชีวิตควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และเป็นองค์รวม ผ่านการนำองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมมาสนับสนุนการใช้จักรยานของคนในกรุงเทพฯ จึงเกิด 3 เป็นไอเดียจากฝีมือนักศึกษา ได้แก่ สนามกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้จักรยานสุวรรณภูมิ และศูนย์ผู้ใช้จักรยานกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ดี ในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สจล. ก็ได้มีการจัดกิจกรรม และโครงการวิจัยต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อาทิ การพัฒนาต้นแบบอาคารประหยัดพลังงาน การวิจัยเครื่องรับขยะเพื่อการรีไซเคิลอัตโนมัติเพื่อการจัดการขยะชุมชนในประเทศไทย การพัฒนารถเข็นผลิตพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยล่าสุดได้มีการร่วมมือกับขสมก. ในการเปิดทดสอบเส้นทางนำร่องรถเมล์ไฟฟ้า สจล. – แอร์พอร์ตลิงค์สถานีลาดกระบัง เพื่อศึกษาทางเลือกของการสัญจรที่ประหยัดพลังงาน ไร้มลพิษ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อเป็นการตอบโจทย์ความตั้งใจในการเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่จะมีการเปิดใช้เส้นทางรถเมล์ไฟฟ้าสำหรับนักศึกษา และบุคลากร อันสอดคล้องภายใต้แนวคิด “รากฐานนวัตกรรมสร้างชาติ: The Nation of Innovation” ในการเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศไทย
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 หรือเข้าไปที่ www.kmitl.ac.th