พม. จัดโครงการฝึกอบรมล่ามเพื่อการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

ข่าวทั่วไป Thursday June 4, 2015 17:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันนี้ (๔ มิ.ย.๕๘) เวลา ๑๔.๐๐ น. นายเลิศปัญญา บูรณบัณทิต รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิด "โครงการฝึกอบรมล่ามเพื่อการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์” เพื่อเพิ่มจำนวนล่าม เสริมทักษะในการเป็นล่ามที่ดี ปลูกฝังจรรยาบรรณล่าม และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของล่ามในกระบวนการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ณ โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ นายเลิศปัญญา กล่าวว่า ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นปัญหาที่ประชาคมโลกห่วงใยและเร่งหามาตรการ เพื่อหาทางป้องกันและแก้ไข เพราะเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง และมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งประเทศไทยเองตระหนักในปัญหาดังกล่าวและได้ผลักดันมาตรการต่างๆ ทั้งในเชิง การป้องกันและการให้ความคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยยึดหลักการดำเนินการที่สำคัญ คือ ไม่เลือกปฏิบัติทั้งคนไทย ชาวต่างชาติและคนไร้สัญชาติ เน้นการดำเนินงานโดยอาศัยความร่วมมือจากทีม สหวิชาชีพ อาทิ นักกฎหมาย นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา จิตแพทย์ ล่ามแปลภาษา และวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการร่วมกันในการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และปราบปรามนักค้ามนุษย์ ตลอดจนผู้กระทำผิดกฎหมายต่างๆ นายเลิศปัญญา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้ให้การคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์สัญชาติต่างๆ อาทิ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน อุสเบกิสถาน บังคลาเทศ และปัจจุบันที่มี มาเพิ่ม คือ โรฮีนจา ทำให้เกิดข้อจำกัดของการสื่อสาร ประกอบกับจำนวนของล่ามหรือผู้แปลภาษานั้น มีจำนวน ไม่เพียงพอ จึงส่งผลกระทบต่อการให้ความช่วยเหลือคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย และต่อประโยชน์สูงสุดที่ผู้เสียหายควรจะได้รับ ทั้งนี้ การฝึกอบรมล่าม จึงถือเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องตามแผนปฏิบัติการมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยกลุ่มเป้าหมายของการฝึกอบรมล่ามครั้งนี้ เป็นบุคลากรล่ามแปลภาษา จำนวน ๖๐ คน ซึ่งเป็นบุคลากรที่ยังไม่เคยผ่านการฝึกอบรมของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ "การฝึกอบรมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ ดร.หนึ่งหทัย แรงผลสัมฤทธิ์ อาจารย์ประจำศูนย์การแปลและการล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสุดารัตน์ เสรีวัฒน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาการคุ้มครองเด็ก และนางภาสตรี ชมวงศ์ นักสังคมสงเคราะห์อาวุโส องค์การช่วยเหลือเด็กระหว่างประเทศ เป็นวิทยากรกระบวนการ โดยการฝึกอบรมฯ ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มจำนวนล่าม เสริมทักษะในการเป็นล่ามที่ดี ปลูกฝังจรรยาบรรณล่ามและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของล่ามในกระบวนการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงาน เพิ่มทักษะในการแปลอย่างถูกต้อง ขยายเครือข่ายการให้บริการล่ามแปลภาษาสำหรับการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ รวมถึงการพัฒนาแผนในการพัฒนาศักยภาพของล่ามเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานในอนาคตต่อไป” นายเลิศปัญญากล่าวท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ