กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายสัมพันธ์ สุวรรณทับ รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมหารือเพื่อกำหนดวิธีการ/แนวทางเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ในวันพฤหัสบดีที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ห้องบุษราคัม ชั้น ๔ โรงแรมอินทรา รีเจ้นท์ โดยมีวัตถุประสงค์การประชุมเพื่อ พิจารณาแนวทาง/วิธีการ เพื่อรองรับสังคมสูงวัยตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ของประเทศไทยทั้ง ๔ ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสภาพแวดล้อม ด้านสุขภาพ และด้านสังคม
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติให้เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘ รับทราบข้อเสนอแนะ เพื่อการปฏิรูปมาตรา ๓๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เรื่อง ข้อเสนอการปฏิรูประบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัยของคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย) ตามที่สภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอและมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูประบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัยของคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมสูงอายุ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชุมหารือกำหนดวิธีการและแนวทางในการปฏิบัติเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการปฏิรูประบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างเป็นรูปธรรม และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล คณะกรรมการปฏิรูปฯ ได้มีข้อเสนอการปฏิรูปเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ได้ทำการศึกษาสภาพปัญหา/เหตุผลความจำเป็นในการปฏิรูประบบ โดยมีหลักการในการปฏิรูป ๕ ประการ ประกอบด้วย
๑. ผู้สูงอายุเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคม การปฏิรูปต้องไม่สร้างระบบที่จะทำให้ผู้สูงอายุต้องกลายเป็นภาระของสังคม
๒. สร้างสังคมที่คนทุกวัยอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข
๓. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของจตุพลัง “ภาครับ ภาคเอกชน องค์กรชุมชน และท้องถิ่น” ในการแก้ปัญหา
๔. เน้น “การสร้าง นำซ่อม” และการประคับประคองให้ผู้สูงอายุอยู่ในสภาพที่สามารถดูแลตนเองได้นานที่สุด
๕. เตรียมความพร้อมของระบบเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สังคม และบริการสุขภาพภายใต้บริบทของสังคมสูงวัย
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมประชุมหารือโดยได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์สำหรับรองรับสังคมผู้สูงวัย ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะได้จัดทำรายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาและมีมติแล้ว ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติต่อไป