กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายวิมล จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ ว่า พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับกฤษฎีกา เล่ม 132 ตอนที่ 15 ก วันที่ 5 มีนาคม 2558 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 ได้มีการกำหนดความหมายของอาหารสัตว์ที่กว้างขึ้นกว่าฉบับเดิม ซึ่ง “อาหารสัตว์” ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ หมายรวมถึง วัตถุที่ใช้เพื่อการเลี้ยงสัตว์ โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การกิน การดื่ม การเลีย และถ้าอาหารสัตว์นั้นมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสัตว์ หรือส่งผลต่อผู้บริโภคเนื้อสัตว์ จะจัดให้เป็น “อาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ” ซึ่งต้องขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ควบคุมเฉพาะ ในกรณีการผลิตเพื่อขายหรือการนำเข้าเพื่อขาย ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจะสามารถควบคุมการปลอมปนของสารพิษที่จะเข้าสู่ร่างกายสัตว์ได้มากขึ้น
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ ยังได้มีมาตรการออกใบรับรองที่เกี่ยวข้องกับอาหารสัตว์ เช่น ใบรับรองระบบการประกันคุณภาพอาหารสัตว์ (GMP และ HACCP) และใบรับรองอื่น ๆ จะทำให้กระบวนการผลิตมีคุณภาพและมีมาตรฐานเพิ่มมากขึ้น มาตรการการโฆษณาอาหารสัตว์หรือวัตถุดิบ ที่จะต้องมีการวางแนวทางปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของกระทรวง โดยจะต้องไม่แสดงคุณประโยชน์ คุณภาพ ปริมาณ มาตรฐาน ส่วนประกอบ หรือแหล่งกำเนินของอาหารสัตว์ ที่ไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง และไม่แสดงข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ซึ่งจะช่วยให้ระบบการควบคุมกว้างมากขึ้น และมีที่มาที่ชัดเจนมากขึ้น โดยมีการกำหนดบทกำหนดโทษการกระทำผิดในกรณีผลิต นำเข้า หรือขายอาหารสัตว์ ตามที่มีการประกาศห้ามเป็นอาหารสัตว์ หรือส่วนผสมในอาหารสัตว์ โดยมีบทลงโทษเพิ่มขึ้นจากพระราชบัญญัติฉบับเดิม 3 เท่า คือระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายวิมล กล่าวต่อไปว่า กระทรวงเกษตรฯ ยังได้พิจารณาร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ. ... โดยจะมีผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมอาหารสัตว์ จำนวน 5 คน จากสหกรณ์ 1 คน กลุ่มเกษตรกร 2 คน และผู้ประกอบธุรกิจภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ 2 คน โดยได้มีการวางหลักเกณฑ์ในการคัดสรรคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจะมีการประกาศรับสมัคร และสรรหาไปตามขั้นตอนต่อไป
“สำหรับมาตรการการตรวจจับหรือการตรวจสอบอาหารสัตว์ที่ผิดกฎหมายนั้น ได้มีการวางหลักเกณฑ์ในกฎหมายใหม่แล้ว ซึ่งสารวัตรปศุสัตว์ก็จะมีการดำเนินการตรวจจับให้ครอบคลุมในพื้นที่และระยะเวลาที่มากขึ้น นอกจากนี้ จะมีการประกาศให้ยาต้านจุลชีพ ไม่สามารถใช้เป็นสารเร่งในการเจริญเติบโตได้ เนื่องจากสารดังกล่าวได้ถูกห้ามใช้โดยต่างประเทศหมดแล้ว จึงต้องมีการพิจารณาและวางหลักเกณฑ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและต่างชาติให้ดีมากขึ้น และสินค้าปศุสัตว์จะได้เป็นที่น่าเชื่อถือจากต่างประเทศด้วย” นายวิมล กล่าว