กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--สถานีโทรทัศน์ช่อง 8
กลายเป็นเรื่องวิตกกังวลกันอย่างมากจากกรณีที่ปะการังน้ำตื้นบริเวณอ่าวมาหยา เกาะพีพี ถูกทำลายอย่างหนักจนแทบจะไม่เหลือให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมแล้วในตอนนี้ ล่าสุดเมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 4 มิ.ย.58 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มาพูดคุยในรายการ ปากโป้ง ที่มี หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย และ เข็ม-ลภัสลดา ช่วยเกื้อ เป็นพิธีกรถึงสาเหตุและแนวทางการแก้ไขว่า
“ตอนนี้ปะการังไทยอยู่ในขั้นวิกฤตมากถ้ายังปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆอีกไม่เกิน 20 ปีผมว่าประเทศไทยจะไม่เหลือปะการังอีกแล้ว เมื่อก่อนประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามติดอันดับโลกมีคนมาดำน้ำดูปะการังกันเยอะมาก แต่ตอนนี้มันอาจจะไม่ใช่แบบนั้นแล้ว สำหรับปะการังในบ้านเรานั้นเมื่อก่อนมีประมาณ 80% แต่ว่าตอนนี้ถูกทำร้ายไปมากเหลือประมาณ 30% ด้วยเหตุผลของการท่องเที่ยวเป็นหลักที่ทำให้ปะการังถูกทำลายมาก”
“หลังจากที่เกิดสินามิตอนนั้นปะการังก็ถูกทำลายเยอะแต่ว่ารณรงค์และช่วยกันฟื้นฟูขึ้นมาได้เยอะเหมือนกัน แต่ตอนนี้มันถูกทำลายจากฝีมือของคนโดยเฉพาะจากการท่องเที่ยวซึ่งปีนี้ไทยบูมในเรื่องของการท่องเที่ยวอย่างมาก โดยเฉพาะ 3 จังหวัด ภูเก็ต กระบี่ พังงา เพียงแค่ไตรมาศเดียวมีนักท่องเที่ยวประมาณ 17 ล้านคนถือว่าเยอะมาก อ่าวมาหยามีนักท่องเที่ยวประมาณ 4 ล้านคนต่อปี เมื่อมีนักท่องเที่ยวเยอะแหล่งท่องเที่ยวก็จะเต็มไปด้วยคน เวลาที่เรือไปจอดทอดสมอก็จะทำให้สมอเรือไปโดนแนวปะการัง ซึ่งความจริงแล้วปะการังที่ถูกทำลายตอนนี้มันมีสาเหตุจากหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการทอดสมอของเรือนักท่องเที่ยว น้ำเสียจากสถานที่พักบนเกาะต่างๆ นักท่องเที่ยวเหยียบปะการัง ฯลฯ และตอนนี้มันไม่ใช่แค่อ่าวมาหยาแล้ว เกาะตาชัยก็กำลังมีผลกระทบจากนักท่องเที่ยวเหมือนกันเพราะมีคนแห่เข้าไปเที่ยวเกาะตาชัยเพิ่มมากขึ้น แต่การรองรับของเกาะมันไม่สามารถรองรับได้มากขนาดนั้นผลกระทบที่ตามมาก็เลยค่อนข้างที่จะเยอะปะการังที่บริเวณเกาะชัยก็เริ่มที่จะลดน้อยลงไปแล้วเหมือนกัน”
ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวเสริมอีกว่า “ตอนนี้มันมาถึงจุดวิกฤตแล้วคงจะนิ่งเชยกันไม่ได้แล้ว ตอนนี้ผมได้มีโอกาสเข้ามาทำงานในคณะสภาปฎิรูปแห่งชาติก็ได้เสนอแนะเรื่องนี้ในสภาปฎิรูปร่วมถึงได้พูดคุยกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเรื่องการนำเอามาตรา 22 มากำหนดใช้เพราะตอนนี้ปะการังอยู่ในขั้นวิกฤตแล้วก็จะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนไปเลยว่าเรือนักท่องเที่ยวสามารถที่จะจอดได้บริเวณไหนเพื่อที่จะไม่มีผลกระทบต่อปะการัง รวมถึงทำความเข้าในกับนักท่องเที่ยวในเรื่องต่างๆด้วยว่าทุกครั้งที่ลงไปดำน้ำดูปะการังจะต้องปฎิบัติตัวอย่างไรนอกจากนี้ต้องรณรงค์ให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้เข้าใจถึงความสำคัญเรื่องของปะการังว่ามันมีความสำคัญขนาดไหน และที่สำคัญรัฐจะต้องมีการจัดเพิ่มจำนวนของเจ้าหน้าที่เพื่อให้เพียงพอต่อการจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นด้วยเพื่อที่จะได้ดูแลได้อย่างทั่วถึง และถ้าเราจริงจังกับเรื่องของการดูแลปะการังอย่างน้อยก็สามารถที่จะฟื้นฟูปะการังได้เหมือนกันตอนที่เกิดสีนามิก็สามารถทำให้ปะการังงอกเพิ่มขึ้นได้”
“ปัญหาเรื่องการทำลายปะการังความจริงแล้วไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทยอย่างเดียวประเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ พม่า ก็เกิดปัญหาแบบนี้เหมือนกัน แต่ว่ารัฐบาลเค้าเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจังจนตอนนี้สามารถที่จะควบคุมและดูแลเรื่องการทำลายปะการังได้ โดยเฉพาะประเทศพม่าเข้ากำลังยืนเสนอให้แหล่งปะการังของเขาเป็นแหล่งมรดกโลกซึ่งถ้าเขาทำได้ก็จะส่งผลดีต่อแหล่งปะการังและแหล่งท่องเที่ยว ดังนั้นจากนี้ไปเราทุกคนคงนิ่งเชยกับเรื่องแบบนี้ไม่ได้แล้วคงต้องช่วยกันรณรงค์มันคงไม่เพียงพอแล้ว อาจจะต้องมีการตักเตือนหรือว่าจับปรับเพื่อให้มีโทษที่รุนแรงขึ้น และการไปเที่ยวธรรมชาตินั้นไม่เหมือนกับการไปเที่ยวห้าง การไปเที่ยวห้างต้องดูแลลุกค้า แต่การไปเที่ยวธรรมชาติเราต้องดูแลธรรมชาติเพราะธรรมชาติคือพระเจ้า เราไปเที่ยวเพื่อชื่นชม ไม่ได้ไปย่ำยี”