กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--สำนักงาน ป.ป.ช.
นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานในพิธีเปิดพร้อมบรรยายพิเศษ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “เครือข่าย อปท. โปร่งใส หัวใจคุณธรรม” ปี 2558 ครั้งที่ 8 วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม 2558 ณ ห้องประชุมนนทบุรี 2 ชั้น 3 อาคาร 4 สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดนนทบุรี โดยมีเทศบาลนครปากเกร็ด ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบ ด้านการป้องกันการทุจริต เป็นแกนนำในการขยายเครือข่าย และมีอปท. จากจังหวัดสุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสมุทรปราการ สมัครใจเข้าร่วมเครือข่าย 85 แห่ง จำนวน 227 คน
นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. ได้กล่าวถึงความเป็นมาของ “เครือข่าย อปท. โปร่งใส หัวใจคุณธรรม” ว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมท้องถิ่นปลอดทุจริต ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบัน และได้คัดเลือกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่นและที่ดี สมัครเข้ารับเลือกให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบ ด้านการป้องกันการทุจริต เพื่อเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และขยายผลหรือขยายเครือข่ายไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ต่อไป ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖ มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับเลือกให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบ ด้านการป้องกันการทุจริต จำนวน ๒๘ แห่ง และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 จำนวน 15 แห่ง สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมองค์กรแห่งการเรียนรู้และขยายเครือข่ายด้านการป้องกันการทุจริต โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “เครือข่าย อปท. โปร่งใส หัวใจคุณธรรม” ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่าง สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด จำนวน 76 จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้นแบบ ด้านการป้องกันการทุจริต จำนวน 43 แห่ง เพื่อรณรงค์ ขยายแนวคิด และสร้างความตระหนักถึงปัญหาการทุจริตที่ส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างร้ายแรง ให้แก่คณะผู้บริหาร ข้าราชการ พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในท้องถิ่น และขยายผลหรือขยายเครือข่ายด้านการป้องกันการทุจริตไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ต่อไป
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ “เครือข่าย อปท. โปร่งใส หัวใจคุณธรรม” จำนวน 14 ครั้ง การประชุมในวันนี้เป็นครั้งที่ 8 นายประสาท ยังกล่าวด้วยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้ความสำคัญในภารกิจด้านการป้องกันการทุจริต ซึ่งเปรียบเสมือนการเสริมสร้างสุขภาวะให้กับร่างกาย เป็นการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งหากเมื่อเกิดเจ็บป่วยแล้วจำเป็นต้องใช้การรักษาโดยการให้ยา หรือผ่าตัดซึ่งเหมือนกับการปราบปรามการทุจริต อันยังแต่ให้เกิดความเสียหาย