กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ในยุคที่ก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ความต้องการแรงงานหรือบุคลากรที่มีคุณภาพพร้อมทำงานนั้น เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะความสามารถด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ดังนั้นการผลิตหรือการสร้างบุคลากรที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของตลาดนั้น ถือเป็นบทบาทหน้าที่หลักของสถาบันการศึกษา ขณะเดียวกันการสนับสนุนจากภาคเอกชนเปิดโอกาสในการให้นักศึกษาได้ร่วมทำโครงงานโดยใช้ปัญหาจริงในโรงงานผ่านโครงการการเรียนรู้ร่วมกับการทำงานนั้น ย่อมจะช่วยเพิ่มศักยภาพของนักศึกษาให้จบออกไปสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น ที่สำคัญบุคลากรทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ เป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม จึงเป็นที่มาของพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)ในวันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา
นายเซีย เชน เยน ประธานบริหารบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เนื่องจากบริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของมจธ.ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงโดยเฉพาะด้านวิศวกรรมศาสตร์ สามารถสร้างบัณฑิตที่มีความรู้และความสามารถทางวิชาการ ที่สำคัญยังมีความเข้าใจเรื่องของการทำงานเป็นทีม ซึ่งถือเป็นจุดเด่นสำคัญของนักศึกษาที่ผู้ประกอบการต้องการ จะเห็นได้ว่าวิศวกรของบริษัทฯ จำนวนมากจบการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ล้วนมีความสามารถและปรับตัวเข้ากับองค์กรได้ดีแตกต่างจากที่อื่น แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จที่ทาง มจธ. ได้สร้างบุคลากรไว้ให้กับภาคเอกชนทั้งวิชาการและการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี ซึ่งบริษัทฯ เองได้ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว จึงถือเป็นโอกาสดีที่มีความร่วมมือกันระหว่างบริษัทฯ กับ มจธ. ขึ้น โดยหวังว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรที่ยั่งยืนเพื่อเป็นกำลังหลักในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและประเทศต่อไป
การพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาในโครงการเรียนรู้ร่วมกับการทำงานเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ฝึกทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นจากการทำงานจริง นอกจากนั้นหากนักศึกษาสนใจทำงานต่อกับบริษัทฯ ก็สามารถลดระยะเวลาในการทดลองงาน และได้พนักงานที่ตรงตามความต้องการของบริษัทฯอีกด้วย ขณะเดียวกันบริษัทฯยังได้มีโอกาสอัพเดทเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับมหาวิทยาลัยและนักศึกษา ซึ่งก็จะเป็นผลดีและเป็นประโยชน์ต่อภาคการศึกษา และภาคเอกชน
สำหรับโครงการความร่วมมือครั้งนี้ ทางบริษัทฯมีความต้องการที่จะขยายจำนวนการรับนักศึกษาจาก มจธ.เข้าฝึกงานภายใต้โครงการ Work–integrated Learning หรือ WiL เป็นการเรียนรู้คู่กับการทำโครงงานที่เป็นโจทย์จริงของบริษัทฯ โดยมีการทำงานร่วมกับหลากหลายภาควิชามากขึ้น ภายใต้โครงการ บริษัทฯ จะสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักศึกษาที่ได้รับเลือก นอกจากโครงการ WiL แล้ว ทางบริษัทฯ สนับสนุนให้นักศึกษาจาก มจธ. เป็นตัวแทนของไทยเข้าร่วมการแข่งขัน Delta Cup ที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นการแข่งขันเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ด้านระบบอัตโนมัติ (automation design)เพื่อลดการใช้พลังงาน ที่มีผลงานของนักศึกษาจาก 20 มหาวิทยาลัยในจีนเข้าร่วมแข่งขันกว่า 100 ทีม ซึ่งขณะนี้กำลังได้รับการสนใจจากภาครัฐและภาคเอกชนของจีน โดยการแข่งขันในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ระหว่างวันที่ 28 – 31 กรกฎาคม 2558 ทั้งนี้เพื่อเป็นการปูพื้นฐานไปสู่การแข่งขันดังกล่าว ในปีนี้ทางบริษัทฯจึงได้เชิญอาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ.เข้าร่วมเดินทางเพื่อดูงานและศึกษาแนวทางสำหรับการจัดส่งนักศึกษาเข้าร่วมแข่งขันในปีต่อไป นอกจากนี้บริษัทฯยังมีแนวคิดที่จะจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สำหรับให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ทดลอง และสัมผัสเครื่องมือหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ของบริษัทฯอีกด้วย
ด้าน รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า การเรียนรู้ร่วมการทำงานกับภาคเอกชนภายใต้โครงการ WiL ที่ มจธ.จัดเป็นหลักสูตรขึ้นนี้ เป็นการผลิตนักศึกษาที่เก่งและพร้อมเข้าทำงานกับภาคอุตสาหกรรม และการเข้าไปทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในโรงงานจริงจะช่วยสร้างความเข้มแข็งด้านประสบการณ์ให้กับนักศึกษา เช่น เรื่องของความสัมพันธ์ การสื่อสาร การแก้ปัญหา และการทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นบุคลากรที่ผู้ประกอบการในยุคปัจจุบันต้องการ ที่สำคัญการที่นักศึกษาได้เข้าไปเรียนรู้ภายใต้โจทย์ปัญหาจริงเป็นการกระตุ้นให้เกิดความขวนขวายศึกษาหาข้อมูล จะทำให้เขามีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งทั้งทางวิชาการและมีทักษะความสามารถด้านต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับการพัฒนาคนรุ่นใหม่ ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ จะช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถสร้างบัณฑิตที่ดีมีคุณภาพทั้งในเชิงวิชาการและในเชิงสมรรถนะความสามารถสูงที่ดีและมีประโยชน์กับผู้ประกอบการต่อไป
อย่างไรก็ตาม การที่มหาวิทยาลัยได้มีความร่วมมือกับบริษัทเดลต้าครั้งนี้ ยังถือเป็นโอกาสดีที่มหาวิทยาลัยจะได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนของไต้หวัน โดยเดลต้าจะเป็นฐานเชื่อมความสัมพันธ์ได้ดี และการเรียนรู้คู่การปฏิบัติในโครงการ WiL จะเป็นฐานที่ให้ประสบการณ์แก่อาจารย์และนักศึกษาได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยยังคาดหวังว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะนำไปสู่การเชื่อมโยงการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างมหาวิทยาลัย และภาคเอกชนของไต้หวันในโอกาสต่อไป
อธิการบดี กล่าวอีกว่า “ที่สำคัญคือเกิดการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างกัน โดยให้นักศึกษาจากไต้หวันเข้ามาเรียนรู้ร่วมการทำงานกับภาคเอกชนในประเทศไทยผ่านโครงการ WiL และมหาวิทยาลัยส่งนักศึกษาเข้าไปทำงานในโรงงานที่ไต้หวัน เพราะเห็นว่าแม้ไต้หวันจะเป็นประเทศเล็กๆ แต่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จากเดิมเป็นประเทศที่มีพื้นฐานทางการเกษตรเหมือนไทย แต่สามารถพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการเกษตรและสามารถพัฒนาภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ผู้ประกอบการไต้หวันนั้นส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SMEs เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับไทย โดยไต้หวันมีวิธีที่ทำให้ SMEs ของประเทศพัฒนาได้ดีและไปได้เร็วกว่า ซึ่งเป็นโมเดลน่าสนใจที่ไทยควรจะเรียนรู้ โดยเฉพาะเทคโนโลยีภาคการเกษตร หากเราได้มีโอกาสเรียนรู้แนวทางการพัฒนาดังกล่าว เชื่อว่าจะส่งผลดีและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวม”