กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
ศ.ดร. ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ ร่วมแถลงผลการสำรวจ พฤติกรรมผู้ใช้สมาร์ตโฟน ด้านการส่งลายการ์ตูน(สติ๊กเกอร์) แทนการพิมพ์ข้อความสื่อสาร
ผู้ใช้สมาร์ตโฟนจำนวนมากมักส่งสติ๊กเกอร์ เป็นประจำเพื่อเป็นเครื่องมือที่ผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์สื่อกับคู่สนทนาแทนความรู้สึก การให้ข้อมูลสั้นๆ การทักทาย การตอบรับ แทนการพิมพ์ข้อความซึ่งจะใช้เวลานานกว่า แต่อย่างไรก็ตามภาพสติ๊กเกอร์ได้กลายเป็นปัญหากับผู้ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์บางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าใจภาพสติ๊กเกอร์ที่ผู้ส่งสารส่งมาให้จึงเป็นสาเหตุให้การสื่อสารเกิดความผิดพลาดหรือการสื่อสารไม่สมบูรณ์ซึ่งเริ่มมีผู้ประกอบการหลายรายได้พัฒนาภาพสติ๊กเกอร์ที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์บางกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการได้ และจำนวนผู้ที่นิยมใช้ภาพสติ๊กเกอร์ในการสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ศ.ศรีศักดิ์กล่าวสรุปว่าจากการสำรวจพฤติกรรมและความคิดเห็นต่อการส่งภาพสติ๊กเกอร์ในการสื่อสารกับผู้อื่นผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคมถึงวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2558 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,152 คนสามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 50.78 ขณะที่ร้อยละ 49.22 เป็นเพศชาย นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 31.86 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 25 ถึง 34 ปี ส่วนกลุ่มตัวอย่างมากกว่าหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 34.46 จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง/พนักงานในห้างร้านหรือบริษัทเอกชนคิดเป็นร้อยละ 31.34
ในด้านพฤติกรรมการรับ/ส่งภาพสติ๊กเกอร์ในการสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.76 ระบุว่าตนเองเคยรับ/ส่งภาพสติ๊กเกอร์ในการสื่อสารกับผู้อื่นผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นประจำ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.24 เคยรับ/ส่งบ้างเป็นบางครั้ง ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 35.68 ระบุว่าตนเองได้รับ/ส่งภาพสติ๊กเกอร์ประเภทแสดงการตอบรับมากที่สุด รองลงมาได้รับ/ส่งสติ๊กเกอร์ประเภทแสดงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ แสดงการทักทายและแสดงกิจกรรมที่กำลังทำซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25.17 ร้อยละ 18.75 และร้อยละ 14.5 ตามลำดับ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.69 ระบุว่าตนเองเคยเสียเงินซื้อภาพสติ๊กเกอร์เพื่อนำมาใช้ในการสื่อสารกับผู้อื่นผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นประจำ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.03 เคยบ้างเป็นบางครั้ง และมีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 13.28 ที่ระบุว่าตนเองไม่เคยเสียเงินซื้อภาพสติ๊กเกอร์เลย อย่างไรก็ตามมีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 22.92 ที่ทราบว่าการใช้ภาพสติ๊กเกอร์ในการสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นอุปสรรคให้กับผู้รับสารบางกลุ่ม เช่น ไม่สามารถมองเห็น ไม่เข้าใจสิ่งที่ต้องการสื่อ เป็นต้น ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 77.08 ไม่ทราบ
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างสติ๊กเกอร์ที่มีแต่ภาพเพียงอย่างเดียวกับสติ๊กเกอร์ที่มีทั้งภาพแสดงและเสียงประกอบนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.91 ระบุว่าตนเองชอบทั้งสองแบบ ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27.86 ระบุว่าตนเองชอบสติ๊กเกอร์ที่มีภาพแสดงเพียงอย่างเดียวมากกว่า และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.23 ระบุว่าตนเองชอบสติ๊กเกอร์ที่มีทั้งภาพแสดงและเสียงประกอบมากกว่า
ในด้านความคิดเห็นต่อการรับ/ส่งภาพสติ๊กเกอร์ในการสื่อสารกับผู้อื่นผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้น กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.23 มีความคิดเห็นว่าการส่งภาพสติ๊กเกอร์แทนการพิมพ์ข้อความไม่ถือเป็นการเสียมารยาทในการสื่อสารกับผู้อื่น ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.08 มีความคิดเห็นว่าการใช้ภาพสติ๊กเกอร์ไม่มีส่วนทำให้ผู้คนพิมพ์ข้อความในการสนทนากับผู้อื่นผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์น้อยลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35.07 มีความคิดเห็นว่ามีส่วน
นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 49.48 มีความคิดเห็นว่าภาพสติ๊กเกอร์ในการสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์มีส่วนทำให้ผู้คนขี้เกียจพิมพ์ข้อความในการสนทนาผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์มากขึ้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40.36 มีความคิดเห็นว่าไม่มีส่วน ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าการใช้ภาพสติ๊กเกอร์ในการสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ไม่สามารถทำให้ผู้รับสารทุกคนเข้าใจในสิ่งที่ผู้ส่งสารต้องการสื่อได้โดยคิดเป็นร้อยละ 47.31 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 42.19 ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.01 มีความคิดเห็นว่าการส่งภาพสติ๊กเกอร์มีส่วนทำให้การสื่อสารกับผู้อื่นผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์มีความรวดเร็วมากขึ้น