กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--มาสเตอร์โพลล์
มาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องเจาะลึกสถานการณ์การค้ามนุษย์กับการทำประชามติให้รัฐบาลประยุทธ์อยู่ต่อ :กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง เจาะลึกสถานการณ์ปัญหาการค้ามนุษย์กับการทำประชามติให้รัฐบาลประยุทธ์อยู่ต่อ : กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 1,055 ตัวอย่าง โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วประเทศ รวบรวมโดย ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน ดำเนินโครงการในวันที่ 5-7 มิถุนายน 2558
ผลสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชน ร้อยละ 55.5 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 26.9 ระบุติดตาม 3-4 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 8.2 ระบุติดตาม 1-2 วัน/สัปดาห์ ร้อยละ 7.5 ระบุน้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง และร้อยละ 1.9 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
คณะผู้วิจัยได้เริ่มต้นจากคำถามถึงการรับรู้ต่อ “วันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์” ที่รัฐบาลได้กำหนดให้ตรงกับวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 63.8 ระบุทราบข่าวมาก่อนแล้ว ในขณะที่ ร้อยละ 36.2 ระบุเพิ่งทราบข่าว (ณ วันที่สัมภาษณ์)
สำหรับความรู้ความเข้าใจของแกนนำชุมชนเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์นั้น คณะผู้วิจัยได้สอบถามว่า “ข้อความใดที่อธิบายความรู้ความเข้าใจของท่านเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์ได้ตรงที่สุด” ผลการสำรวจ พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 4.6 ระบุยังไม่เข้าใจเลยว่าการค้ามนุษย์หมายถึงอะไร ในขณะที่ร้อยละ 5.9 ระบุรู้สึกสับสนในความหมายของการค้ามนุษย์ ร้อยละ 7.6 ระบุไม่แน่ใจในความแตกต่างของการค้ามนุษย์กับการบังคับใช้แรงงาน ร้อยละ 28.9 ระบุคิดว่าการค้ามนุษย์คือการลักลอบส่งออก-นำเข้าแรงงาน และร้อยละ 53.0 ระบุเข้าใจความหมายของการค้ามนุษย์เป็นอย่างดีแล้ว
หลังจากนั้น คณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงการพบเห็น/รับรู้เหตุการณ์หรือพฤติการณ์ที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ที่ แกนนำชุมชนระบุว่ามีอยู่ในพื้นที่จังหวัดที่พักอาศัย ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนได้ระบุเหตุการณ์/พฤติการณ์ที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ที่ “มีอยู่จริง” ในพื้นที่จังหวัดของตน ดังต่อไปนี้ อันดับที่หนึ่งคือ มีเด็ก/เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าไปเกี่ยวข้องกับการขายบริการทางเพศ (ร้อยละ 29.8) รองลงมาคือ มีคนถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ เพื่อแลกกับประโยชน์หรืออะไรบางอย่าง (ร้อยละ 28.4) มีลูกจ้างได้รับค่าจ้างต่ำกว่างานที่ทำ/ได้รับค่าจ้างเพียงบางส่วน/ไม่ได้รับค่าจ้างจากการทำงาน (ร้อยละ 28.3) มีคนถูกบังคับให้ถ่ายหนังโป๊/มีบาร์อะโกโก้ หรือมีอาบอบนวดที่ขายบริการทางเพศ (ร้อยละ 22.7 ) มีลูกจ้างที่ไม่สามารถลาออกจากงานได้เนื่องจากหวาดกลัว/มีหนี้สินติดค้างนายจ้าง/ถูกนายจ้างข่มขู่ (ร้อยละ19.8) มีเด็ก/เยาวชนถูกครอบครัวบังคับให้ทำงานหนักเกินอายุ (ร้อยละ 16.4) มีผู้ชายที่บังคับข่มขู่/หาประโยชน์จากผู้หญิงที่ขายบริการทางเพศ (ร้อยละ 12.1) มีแรงงานต่างชาติถูกนายจ้างยึดเอกสารสำคัญ เช่นบัตรประจำตัว วีซ่า หรือหนังสือเดินทาง ทำให้ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ (ร้อยละ 11.5) มีผู้หญิงที่ถูกบังคับข่มขู่ให้ขายบริการทางเพศ (ร้อยละ11.1) และมีคนต่างชาติถูกบังคับให้แต่งงานหรือทำงาน เพื่อแลกกับเงื่อนไขการไม่ถูกส่งตัวกลับประเทศ (ร้อยละ 5.3)
นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงสาเหตุของปัญหาการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชน ร้อยละ 74.9 ระบุปัญหาความยากจน ร้อยละ 63.3 ระบุการด้อยโอกาสทางการศึกษา ร้อยละ 63.0 ระบุการว่างงาน ร้อยละ 60.4 ระบุถูกล่อล่วงจากนายหน้าค้ามนุษย์ ร้อยละ 48.6 ระบุปัญหาแรงงานต่างด้าว ร้อยละ 43.2 ระบุปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ร้อยละ 40.4 ระบุค่านิยมการเลียนแบบคนที่มีฐานะดีกว่า ร้อยละ 33.6 ระบุค่านิยมการใช้บริการทางเพศ และร้อยละ12.0 ระบุสาเหตุอื่นๆ อาทิ ภาระหนี้สิน /ความโลภ ไม่รู้จักพอ/ผู้มีอิทธิพล /การแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบของข้าราชการ/เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น
ประเด็นสำคัญคือเมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามแกนนำชุมชนว่า โดยภาพรวมแล้วให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “สอบผ่าน” หรือ “สอบไม่ผ่าน” ในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 97.5 ระบุให้สอบผ่าน ในขณะที่ร้อยละ 2.5 ระบุสอบไม่ผ่าน โดยเหตุผลของการสอบไม่ผ่านคือยังตัดสินใจตอนนี้ไม่ได้ มีปัญหาอีกหลายอย่างที่รัฐบาลยังไม่ได้แก้ไข/ยังเดินมาไม่ถึงครึ่งทาง สรุปไม่ได้/ยังมีปัญหาเหลืออยู่อีกมาก/ยังไม่เห็นผลงานเป็นรูปธรรมชัดเจน เป็นต้น
หลังจากนี้ คณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศในปัจจุบัน โดยถามว่า “ต้องการอะไรมากกว่ากัน ระหว่างการปฏิรูปให้แล้วเสร็จแล้วค่อยจัดการเลือกตั้ง” กับ “การจัดการเลือกตั้งให้ก่อนแล้วค่อยดำเนินการปฏิรูปต่อ” ผลการสำรวจพบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 24.6 ระบุต้องการให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ก่อน แล้วค่อยดำเนินการปฏิรูปประเทศต่อ อย่างไรก็ตาม แกนนำชุมชนมากกว่า 2 ใน3 หรือ ร้อยละ75.4 ระบุต้องการให้ปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จก่อนแล้วค่อยจัดการเลือกตั้ง
ประเด็นสำคัญสุดท้ายที่กำลังได้รับความสนใจจากสาธารณะชนอยู่ในขณะนี้คือ การทำประชามติเพื่อให้รัฐบาลอยู่ทำงานต่อ โดยคณะผู้วิจัยได้สอบถามแกนนำชุมชนว่า “คิดว่าจะลงชื่อสนับสนุนหรือคัดค้าน หากมีการทำประชามติให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาอยู่ทำงานต่อจนกว่าจะปฏิรูปประเทศได้สำเร็จ” ผลการสำรวจพบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่คือร้อยละ 84.7 ระบุคิดว่าจะลงชื่อสนับสนุน ในขณะที่ร้อยละ 15.3 ระบุคิดว่าจะลงชื่อคัดค้าน ทั้งนี้ได้ให้เหตุผลที่คัดค้านว่า เป็นเพราะรัฐบาลชุดนี้ยังไม่สามารถทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านต่างจังหวัดยังไม่ดีขึ้นเลย/อยากให้เป็นประชาธิปไตยเร็วๆ /อยากให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง/รัฐบาลยังเข้าไม่ถึงรากเหง้าความเป็นจริงของประชาชน/ใช้เวลายาวนานเกินไป/ไม่สบายใจที่อำนาจเด็ดขาดอยู่ที่นายกรัฐมนตรีคนเดียว
คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
แกนนำชุมชนร้อยละ 89.6 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 10.4 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 7.2 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 32.1 ระบุอายุ 40-49 ปี และร้อยละ 60.7 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 35.5 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 45.7 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 5.8 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. ร้อยละ 13.0 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ
แกนนำชุมร้อยละ 74.3 มีอาชีพประจำคือเกษตรกร ร้อยละ 15.1 ระบุประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ในขณะที่ร้อยละ10.6 ระบุมีอาชีพอื่นๆ อาทิรับจ้าง ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัวพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 30.4 ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 25.6 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,000–15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 23.4 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่แกนนำชุมชนร้อยละ 20.6 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ