กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า โทรทัศน์ช่องใหม่ระบบดิจิตอลที่สามารถผลิตรายการที่มีคุณภาพและเป็นที่นิยมของผู้ชม จะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งค่าโฆษณาจากผู้ประกอบการรายเดิม โดยเฉพาะช่อง 5 และช่อง 9 ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโทรทัศน์รายใหญ่ที่สุดสองรายเดิม ได้แก่ ช่อง 7 และ ช่อง 3 จะยังคงรักษาสถานะความเป็นผู้นำตลาด เนื่องจากความแข็งแกร่งในการผลิตรายการที่ได้รับการยอมรับจากผู้ชม และฐานผู้ชมขนาดใหญ่
โทรทัศน์ช่องใหม่ที่มีความสามารถในการผลิตรายการที่จำกัดน่าจะเผชิญความท้าทายที่สูงกว่าในการดึงดูดฐานคนดูส่วนใหญ่ซึ่งนิยมรายการที่ผลิตภายในประเทศ โดยฐานะทางการเงินของบริษัทเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบ และความสามารถในการดำรงรักษาสภาพคล่องที่เพียงพอที่จะรองรับผลขาดทุนต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อความอยู่รอดของธุรกิจ
ในกลุ่มผู้ประกอบการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลรายใหม่ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน), และ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) (แกรมมี่, ‘BBB+(tha)’, แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก) ซึ่งมีความสามารถผลิตรายการด้วยตนเองและมีเรตติ้งของช่องที่ดีกว่าช่องดิจิตอลช่องใหม่อื่นๆ น่าจะมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งขึ้น ในสภาวะตลาดที่ยังคงมีความท้าทายอยู่ ฟิทช์คาดว่าสถานะทางการเงินของผู้ประกอบการเหล่านี้จะแข็งแกร่งขึ้นในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า จากรายได้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ฟิทช์คาดว่า เรตติ้งของช่องเวิร์คพอยท์, ช่อง 8 ของอาร์เอส, และช่องวัน ของแกรมมี่ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า จากฐานผู้ชมทีวีดิจิตอลที่เพิ่มขึ้น และการเพิ่มรายการใหม่ในช่วงไพรม์ไทม์ โดยเรตติ้งของ ช่อง 8 และช่องวัน น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากรายการใหม่ประเภทละคร ซึ่งใช้ดาราและศิลปินในสังกัดที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม ในขณะที่เวิร์คพอยท์น่าจะยังคงมุ่งเน้นผลิตรายการวาไรตี้ ซึ่งเป็นจุดแข็งของบริษัท โดยเวิร์คพอยท์มีแผนจะย้ายรายการวาไรตี้ที่ได้รับความนิยม คือ รายการชิงร้อยชิงล้าน ซึ่งเป็นรายการเดียวที่ยังคงออกอากาศในช่อง 3 ของกลุ่มบริษัทบีอีซี เวิลด์ มายังช่องเวิร์คพอยท์ในเดือนกรกฎาคมปีนี้
ผู้ประกอบการทีวีดิจตอลรายใหม่เหล่านี้ใช้กลยุทธ์การเพิ่มจำนวนรายการให้สอดคล้องกับการเติบโตของรายได้ค่าโฆษณาที่คาดว่าจะได้รับ เพื่อลดความเสี่ยงจากเงินลงทุนในการผลิตรายการที่สูงและรายได้ค่าโฆษณาที่อาจมาช้ากว่าที่คาด
ฟิทช์คาดว่าช่อง 5 และช่อง 9 จะยังคงสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จากการที่ช่องใหม่มีเรตติ้งดีขึ้น ช่อง 5 ของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก มีศักยภาพในการผลิตรายการด้วยตนเองค่อนข้างต่ำ ได้ประกาศปรับลดอัตราค่าเช่าเวลาลงเฉลี่ยร้อยละ 25-35 ในปี 2558 ส่วนช่อง 9 ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) มีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนรายการที่ผลิตเองในปีนี้ การพึ่งพารายการจากผู้ผลิตรายอื่นเป็นความเสี่ยงสำคัญในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากผู้ผลิตรายการที่มีคุณภาพ ซึ่งรวมถึง เวิร์คพอยท์, อาร์เอส, และแกรมมี่ ต่างมุ่งเน้นผลิตรายการให้กับช่องของตนเองมากกว่าการขายรายการให้กับคู่แข่ง
ฟิทช์คาดว่าผู้ประกอบการโทรทัศน์รายใหม่ที่ไม่มีศักยภาพในการผลิตรายการที่มีคุณภาพด้วยตนเอง หรือไม่สามารถซื้อรายการที่เป็นที่นิยมด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ จะยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ในการเพิ่มรายได้ค่าโฆษณาให้เพียงพอสำหรับค่าใบอนุญาตและต้นทุนรายการที่อยู่ในระดับสูง