กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา มูลนิธิมั่นพัฒนา (Thailand Sustainable Development Foundation –TSDF) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดงานเสวนา “เวทีมั่นพัฒนาครั้งที่ 1/2558” ภายใต้ประเด็นเสวนา “ชนบทไทย” พื้นที่วิจัยสำหรับนักวิชาการรุ่นใหม่ ณ ห้องประชุมเทเวศร์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ในงานได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรีและประธานกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา ร่วมแสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นักวิชาการกับการพัฒนาชนบท” นอกจากนั้นยังมีผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ผู้บริหารมหาวิทยาลัย รวมถึงนักวิจัยที่มีประสบการณ์ในการทำงานกับชุมชนชนบทไทย มาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ในประเด็นต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานวิจัยในชนบทไทยเป็นอย่างมาก
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย กล่าวถึงหลักสำคัญของการพัฒนานิสิตนักศึกษาที่จะเติบโตไปเป็นนักวิชาการหรือนักวิจัยว่า นอกจากจะเป็นคนเก่งแล้ว ยังต้องเป็นพลเมืองที่ดี สามารถนำความรู้ความสามารถที่มีมาสร้างประโยชน์ต่อสังคมชุมชนได้ สิ่งสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้นักวิชาการหรือนักวิจัยนำเอาภารกิจหลักของตนเองไปช่วยผู้อื่น หรือคนในชนบทให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พร้อมส่งเสริมให้ชาวบ้านเกิดการเรียนรู้การทำงานวิจัยจากการมีส่วนร่วมได้ ผลักดันชาวไร่ชาวนาให้เป็นเจ้าของโครงการด้วยตนเอง โดยให้นักวิจัยมีบทบาทเป็นเพียงผู้สนับสนุน คอยเชื่อมโยงศาสตร์ของชาวบ้าน ศาสตร์พระราชา และศาสตร์สากล เข้าไว้ด้วยกันเป็นองค์ความรู้ใหม่ พร้อมทั้งถ่ายทอดและแบ่งปันให้กับผู้อื่นต่อไป หากนักวิจัยหรือนักวิชาการสามารถทำให้เกิดสิ่งเหล่านนี้ขึ้นได้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น การศึกษา ศีลธรรม และเศรษฐกิจ ก็จะลดลง ทำให้ประเทศก้าวหน้าไปได้อย่างมั่นคงต่อไป
ในส่วนของ ศ.ดร.ปิยวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ ชี้ให้เห็นถึง 20 ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนางานวิจัยในพื้นที่ชนบท นอกจากนั้นยังได้เสนอถึงโอกาสในการหนุนเสริมงานวิจัยว่า จะต้องมาจาก 3 ส่วนสำคัญ นั่นคือ ต้องเริ่มจากตัวผู้วิจัยเอง จากสถาบัน และจากส่วนกลางที่เป็นผู้ดูแลนโยบาย ซึ่งในปัจจุบันงานวิจัยในลักษณะดังกล่าวได้รับการยอมรับให้เป็นผลงานทางวิชาการแล้ว นอกจากนั้นยังเกิดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนและทำงานวิจัยร่วมกัน ภายใต้ชื่อโครงการพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม (Engagement Thailand) โดยมีเป้าหมายในการจัดระบบการจัดการ พัฒนาความรู้ทักษะของบุคลากร ยกระดับงานวิชาการให้เกิดการยอมรับ และสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยไทย ให้เป็นที่รู้จักในวงการอุดมศึกษาระดับนานาชาติอีกด้วย
ทางด้าน ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า สิ่งที่ สกว. มุ่งเน้นและให้ความสำคัญก็คือ เรื่องของการวิจัยและพัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนการวิจัยเชิงพื้นที่ ?(Area-Based Collaborative Research) เพราะเชื่อว่าการพัฒนาจากฐานราก จะเป็นการพัฒนาที่เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง ช่วยสร้างความยั่งยืนและสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยในการสนับสนุนของ สกว. นั้น จะมียุทธศาสตร์สำคัญ 5 ประเด็น ได้แก่ การสนับสนุนงบประมาณ การสร้างเสริมศักยภาพของนักวิจัย การพัฒนาระบบงานวิจัยพร้อมทั้งเชื่อมโยงเครือข่าย การนำผลงานไปใช้ประโยชน์จริง และการพัฒนาองค์กรเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้
นอกจากนั้นภายในงาน ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงประเด็นการวิจัยในพื้นที่ชนบทไทย ซึ่ง ดร.วิรไท สันติประภพ กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา ได้สรุปสาระสำคัญให้ผู้เข้าร่วมเสวนาเห็นว่า มูลนิธิมั่นพัฒนา จะสามารถตอบโจทย์ให้กับนักวิจัยหลายท่านได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพื้นที่วิจัยที่มูลนิธิเองมีเครือข่ายอยู่ในหลายพื้นที่ การสนับสนุนงบประมาณการวิจัย รวมถึงการเผยแพร่และสร้างความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเปิดโอกาสให้กับนักวิจัยได้พัฒนางานวิจัยของตนเองต่อไป
สามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิมั่นพัฒนา โทร. 0 -2787 – 7956 หรือที่ www.tsdf.or.th และติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ www.facebook.com/tsdf.thailand