กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--เจซีแอนด์โคพับลิครีเลชั่นส์
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ร่วมกับ ศูนย์ห้องปฏิบัติการศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดบริการรับส่งสิ่งตรวจต่างๆ อาทิ โลหิต น้ำเหลือง ตัวอย่างเนื้อเยื่อ สารคัดหลั่ง ฯลฯ จากโรงพยาบาลและสถานพยาบาลทั่วประเทศ ส่งตรงมายังศูนย์ห้องปฏิบัติการศิริราช ภายใต้โครงการ “ศูนย์แลปศิริราชก้าวไกล ส่งตรวจได้ทางไปรษณีย์” ซึ่งมีความพร้อมสูง พร้อมด้วยมาตรฐานสากลและให้บริการตรวจที่หลากหลายที่สุดในประเทศไทย ทั้งนี้ บริการดังกล่าวสามารถจัดส่ง เพื่อตรวจและวินิจฉัยได้ทันเวลาด้วยระบบ EMS Super Speed เพียง 150 บาทต่อกล่อง ในน้ำหนักไม่เกิน 1,000 กรัม อย่างไรก็ดี สำหรับสถานพยาบาลใดที่สนใจขอรับบริการ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ห้องปฏิบัติการศิริราช ตึกจุลชีววิทยา ชั้น 1 โรงพยาบาลศิริราช (ในวันและเวลาราชการ) โทรศัพท์ 0-2419-8811 หรือเว็บไซต์ www.si.mahidol.ac.th/th/SiLC/Index2.html ทั้งนี้ ทั้ง 2 หน่วยงานได้จัดงานลงนามความร่วมมือ “ศูนย์แลปศิริราชก้าวไกล ส่งตรวจได้ทางไปรษณีย์” พร้อมเปิดบริการส่งสิ่งตรวจทางไปรษณีย์ เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องประชุมคณะฯ ตึกอำนวยการ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ
นางสาวสุชาดา พุทธรักษา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ (สายงานการตลาด) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า เนื่องด้วยปริมาณงานที่ส่งเข้ามายังศูนย์ห้องปฏิบัติการฯ ที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องกว่า 3,000 รายต่อเดือน ไปรษณีย์ไทย ในฐานะผู้นำด้านการขนส่ง ตลอดจนมีเครือข่ายไปรษณีย์ที่เข้มแข็งกว่า 1,300 แห่งครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ จึงได้ขยายพื้นที่ให้บริการได้ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางให้โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลในทุกพื้นที่ทั่วภูมิภาคได้เข้าถึงบริการของห้องปฏิบัติการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากลแม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล
นางสาวสุชาดา กล่าวต่อว่า ซึ่งมั่นใจได้ว่าสิ่งส่งตรวจทางการแพทย์ อาทิ โลหิต น้ำเหลือง ตัวอย่างเนื้อเยื่อ สารคัดหลั่ง ฯลฯ จากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลในพื้นที่ภูมิภาคทั่วประเทศจะถูกจัดส่งมายังศูนย์ห้องปฏิบัติการศิริราช (SiLC) เพื่อตรวจและวินิจฉัยได้ทันเวลา ด้วยมาตรฐานบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษในประเทศ (EMS) ในอัตราค่าบริการ 50 บาทต่อกล่อง โดยจะถึงที่หมายไม่เกิน 3 วันทำการ และบริการส่งด่วน มั่นใจ ถึงไวใน 24 ชั่วโมง (EMS SUPER SPEED) ในอัตราค่าบริการ 150 บาทต่อกล่อง ซึ่งเปิดให้บริการ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ที่กำหนดใน 8 พื้นที่ภูมิภาค ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ และอุบลราชธานี พร้อมด้วยเทคโนโลยีรายงานผลการจัดส่ง สามารถติดตามตรวจสอบสถานะการจัดส่งได้ตลอดเส้นทาง ผ่านระบบ Track & Trace ทางเว็บไซต์ www.thailandpost.co.th
อย่างไรก็ตาม ความรวดเร็วและปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่ไปรษณีย์ไทยคำนึงถึงในการให้บริการ โดยสิ่งส่งตรวจทุกกล่องที่จัดส่งผ่านไปรษณีย์จะมีสัญลักษณ์เฉพาะให้เจ้าหน้าที่สังเกตได้ชัดเจน ระบุปลายทางที่อยู่ของศูนย์ห้องปฏิบัติการอย่างครบถ้วน พร้อมเบอร์โทรศัพท์สำหรับการติดต่อ ตลอดจนหมายเลข 13 หลัก สำหรับตรวจสอบสถานะสิ่งของ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่แสดงสัญลักษณ์เครื่องหมายชีวภัยสากล (Biohazard) หมายถึง สิ่งของที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการปฏิบัติงานของห้องปฏิบัติการอีกด้วย นางสาวสุชาดา กล่าวสรุป
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีคนไทยจำนวนมาก ที่ขาดโอกาสในการได้รับการวินิจฉัยโรคและการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งการยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพของคนไทย ถือเป็นพันธกิจที่สำคัญประการหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ภายใต้การกำกับของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยที่คณะฯ เองมีวิสัยทัศน์ในการเป็นสถาบันทางการแพทย์ของแผ่นดิน มุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับสากล ให้บริการแก่ประชาชนทุกระดับ ด้วยมาตรฐานทางการแพทย์ที่ทันสมัย ซึ่งการรักษาจะได้ผลดี ส่วนหนึ่งมาจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือการตรวจทางห้องแลป จึงถือเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ และจะนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที รวมทั้งสามารถใช้ในการติดตามผลการรักษาได้ด้วย หลายโรงพยาบาลในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในการตรวจแลป โดยอาจไม่มีให้บริการตรวจบางอย่างที่ทำได้ยาก หรือขาดผู้เชี่ยวชาญในการตรวจวินิจฉัย ในครั้งนี้ ศิริราช จึงเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลต่างๆ สามารถส่งตรวจแลปที่มีความจำเป็นต่อการวินิจฉัยโรคและรักษาผู้ป่วย เพื่อลดข้อจำกัดในเรื่องแลป และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการด้านห้องแลปของศิริราชที่ดูแลโดยอาจารย์และบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ด้วยมาตรฐานเดียวกันกับผู้ป่วยของศิริราชเอง
ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ครั้งนี้ ไปรษณีย์ไทยร่วมมือกับศิริราช ให้บริการส่งสิ่งส่งตรวจจากทุกภาคส่วนของประเทศไทย เข้ามายังศูนย์ห้องปฏิบัติการศิริราชที่มีการตรวจแลปที่ได้การรับรองมาตรฐานสากลและให้บริการตรวจที่หลากหลายมากที่สุด นับเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ของคนไทยได้เป็นอย่างดี ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
รศ.ดร.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยา กล่าวว่า โครงการศูนย์ห้องปฏิบัติการศิริราช หรือ Siriraj Laboratory Center เรียกสั้นๆ ว่า SiLC เป็นความร่วมมือแบบสหสาขาของทุกห้องปฏิบัติการในศิริราช เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ป่วยจากทั่วประเทศไทยสามารถเข้าถึงบริการตรวจทางห้อง ปฏิบัติการที่มีคุณภาพสูง ทันสมัย และมีความหลากหลายมากที่สุดของประเทศ ด้วยมาตรฐานเช่นเดียวกับผู้ป่วยที่โรงพยาบาลศิริราช แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่ได้มารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชโดยตรง จุดเด่นของศูนย์ฯ แห่งนี้อยู่ที่ มีรายการตรวจวิเคราะห์ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานระดับสากล ISO 15189 มากที่สุดในประเทศไทย และมีระบบควบคุมคุณภาพจากสถาบันระดับนานาชาติด้วย มีอาจารย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ดูแลตรวจสอบพร้อมให้คำปรึกษา ซึ่งหาได้ยากในประเทศไทย โดยให้บริการตรวจทางห้องแลปครอบคลุมทุกสาขาทางการแพทย์ มากกว่า 1,000 รายการ รวมถึงการตรวจพิเศษเฉพาะโรค และการตรวจที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยมากมายด้วยบุคลากรที่มีความชำนาญ ทั้งนี้ การส่งตรวจต้องผ่านทางโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยไปรับการรักษาอยู่ และได้ความเห็นชอบจากแพทย์ผู้รักษา ผู้ป่วยไม่สามารถส่งตรวจได้ด้วยตนเอง เนื่องจากการตรวจทางแลปนั้น แพทย์ผู้รักษาจำเป็นต้องพิจารณาร่วมกับอาการของผู้ป่วยด้วย
อย่างไรก็ตาม อาจมีข้อกำหนดพิเศษเกี่ยวกับสิ่งส่งตรวจบางอย่าง เช่น อุณหภูมิและระยะเวลาที่ส่งซึ่งต้องดูในรายละเอียดเพิ่มเติมในแต่ละรายการตรวจ โดยทางโรงพยาบาลศิริราชจะให้บริการด้วยมาตรฐานเดียวกับผู้ป่วยของศิริราช และมีระบบรักษาความลับของผู้ป่วยเป็นอย่างดี ไม่ว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาดูแลอยู่ที่สถานพยาบาลใด รศ.ดร.นพ.ภัทรชัย กล่าว
สำหรับสถานพยาบาลใดที่สนใจขอรับบริการ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ห้องปฏิบัติการศิริราช ตึกจุลชีววิทยา ชั้น 1 โรงพยาบาลศิริราช โทรศัพท์ 0-2419-8811 (ในวันและเวลาทำการ) เว็บไซต์ www.si.mahidol.ac.th/th/SiLC/Index2.html หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ THP Contact Center 1545